ตั้ง 3 คณะทำงาน มี DSI ร่วม – ส่งศาลฎีกาแล้ว 3 คดี
“แสวง” ย้ำ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ! เดินหน้าสอบสวนคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด พร้อมหน่วยงานความมั่นคงร่วม DSI – ปปง. – สตช. เผยพิจารณาคดีแล้ว 109 เรื่อง ส่งศาลฎีกา 3 คดีจากคำร้องทั้งหมด 220 เรื่อง
กกต.เดินหน้า! คดีฮั้ว ส.ว. ไม่ปล่อยผ่าน
วันนี้ (28 ก.พ.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี ฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยืนยันว่า กกต.ให้ความสำคัญอย่างมาก และไม่ได้เพิกเฉยต่อการร้องเรียน โดยแยกคดีเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ คดีซื้อเสียง และทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป และ คดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. ที่มีการ จ้างจัดตั้งกลุ่ม, จัดทำโพยเลขชุด, บล็อกโหวต, และคะแนน 0 ที่ผิดปกติ ซึ่งเป็น ลักษณะพิเศษและกระทำเป็นขบวนการ ทั้งนี้มีคำร้องเกี่ยวกับ ฮั้วเลือก ส.ว. รวม 220 เรื่อง พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง ส่งศาลฎีกาดำเนินคดีแล้ว 3 คดี
กกต.ตั้ง 3 คณะทำงานพิเศษ ร่วมกับ DSI – สตช. – ปปง.
นายแสวง ชี้แจงว่า เพื่อให้การสอบสวนโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ กกต. ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดหลัก ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการพิเศษ ทำหน้าที่ที่ปรึกษาและประสานงานการสืบสวน มีตัวแทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 2. คณะทำงานร่วมหน่วยงานรัฐ แต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากหน่วยงานรัฐ 10 คน เพื่อช่วยสืบสวน โดยมีข้าราชการระดับสูงจาก สตช., DSI, ปปง. และ 3. คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ เป็นคณะพิเศษ นำโดยรองเลขาธิการ กกต. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สตช. มีอำนาจไต่สวนและตรวจสอบคดีฮั้วเลือก ส.ว. ในทุกพื้นที่วางเป้าหมายให้ทุกสำนวนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย และให้ทุกฝ่ายมีโอกาสชี้แจงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
กกต. ย้ำมีอำนาจเต็มที่ ไม่ต้องมอบหมายให้หน่วยงานอื่น
นายแสวง ระบุว่า กกต. มีอำนาจโดยตรงในการสอบสวนและไต่สวนคดีเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 41 และ 49 ให้อำนาจ กกต. ดังนี้ กกต. ต้องสอบสวนเอง หากพบการทุจริต ไม่ต้องรอให้มีผู้ร้อง,กกต. สามารถแต่งตั้งพนักงานรัฐมาช่วยงานได้ แต่ ไม่สามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นทำแทนได้ และกกต. สามารถส่งสำนวนให้ศาลฎีกา หรือโอนคดีให้หน่วยงานอื่นได้ หากกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานนั้นดำเนินการ
ส่วนกรณีของ DSI หาก มั่นใจว่ากฎหมายให้อำนาจ ก็สามารถรับเรื่องไว้ดำเนินคดีเองได้ ซึ่งกกต. ได้ทำหนังสือถึง DSI เพื่อสอบถามว่ามีการรับคดีไว้เป็นคดีพิเศษแล้วหรือไม่ คดีอะไร เพื่อจะได้เสนอ กกต.พิจารณาตามมาตรา 49 ต่อไป
“พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว กกต.มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่แทนไว้ กรณีที่เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณาก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ก็มีอำนาจในการรับเรื่องไว้ดำเนินการเองได้เลย“ นายแสวงกล่าวทิ้งท้าย