คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที หลังพบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้านำเข้า
เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด กนง. ชี้โครงสร้างอุตสาหกรรมมีปัญหา
นาย สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันจาก อุตสาหกรรมการผลิตที่ซบเซา จากการแข่งขันของสินค้านำเข้า ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความเปราะบางของ SMEs ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าภาคบริการและการท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ ภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง กลับถูกกดดันหนัก ทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ลดดอกเบี้ย หวังลดภาวะตึงตัวทางการเงิน
คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงิน โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะที่กรรมการ 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย ให้เหตุผลว่า ควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินสำหรับรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จับตาสินเชื่อ SMEs – หนี้ครัวเรือน ยังกดดันเศรษฐกิจ
กนง. ประเมินว่า แม้การขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวมจะทรงตัว แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สินเชื่อ SMEs ที่ยังคงหดตัว จากปัญหาด้านการแข่งขันและต้นทุนสูง และ หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง แม้รายได้เริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่เต็มที่
ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายการเงินยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้อย่างเหมาะสม
ค่าเงินบาทยังผันผวน กนง. จับตานโยบายเศรษฐกิจโลก
ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวน จาก ความไม่แน่นอนของนโยบายจากประเทศเศรษฐกิจหลัก ทำให้ กนง. เห็นควรติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
กนง. ย้ำว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการเงินที่ยังคงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน