บรรยากาศที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาประธานอาเซียน ลงพื้นที่พร้อมกล่าว “ขออภัย” ต่อประชาชนในพื้นที่ ทว่า รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กลับมองว่านี่เป็นเพียง “การสะกิดแผลเก่า” ที่ไม่ได้ช่วยเยียวยาสถานการณ์แต่อย่างใด
รศ.ดร.ปณิธาน พูดเรื่องนี้กับ “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง ของ The Publisher โดยระบุว่า การลงพื้นที่ของนายทักษิณ อาจทำให้ชาวบ้านอุ่นใจ แต่ถ้าอยากแก้ปัญหาจริง ๆ ก็ควรอยู่ให้นานกว่านี้ อย่างน้อยสามถึงหกเดือน ไม่ใช่แค่วันสองวัน พร้อมชี้ว่าคำว่า “ขออภัย” นั้นยังห่างไกลจากการชดเชยความสูญเสียของผู้ได้รับผลกระทบ “แผลลึกต้องใช้เวลารักษา ไม่ใช่แค่คำพูดแล้วจบ คนที่ประสบความสูญเสีย พวกเขาไม่ยอมรับคำขออภัย จนกว่าจะมีการชำระสะสางในเรื่องที่เกิดขึ้น”
สถานการณ์ชายแดนใต้วันนี้ ไม่เหมือนเดิม
รศ.ดร.ปณิธาน เตือนว่า ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซับซ้อนกว่าที่เคยเป็น “นี่ไม่ใช่กลุ่มคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่กองกำลังแบบเก่า พวกเขามีมหาอำนาจต่างชาติสนับสนุน เราจะใช้วิธีเดิมไม่ได้อีกต่อไป” พร้อมชี้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบปรับยุทธศาสตร์ใหม่ แม้คนเหล่านี้อาจพ่ายแพ้ในเชิงทหาร แต่ได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา โดยกำลังมุ่งไปสู่การเรียกร้อง “รัฐอิสระ” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญไทย
“ถ้าให้เขาควบคุมนโยบายความมั่นคง ควบคุมกำลัง ควบคุมภาษี เท่ากับลดทอนความเป็นรัฐเดี่ยวของเรา คนไทยไม่มีทางยอม” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว พร้อมเสนอว่าการเจรจาต้องเกิดขึ้นกับ “แกนนำตัวจริง” ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งโต๊ะเจรจาทั่วไป
พรมแดนเปราะบาง ธุรกิจผิดกฎหมายยังเฟื่องฟู
อีกปัจจัยที่ทำให้ไฟใต้ยังคุกรุ่น คือ ผลประโยชน์มหาศาลในพื้นที่ “ถ้าไปชายแดนใต้ คุณจะเห็นทุกกระบวนการผิดกฎหมายที่ชายแดนเมียนมาเคยมี ที่นี่ก็มีหมด”ตั้งแต่ ยาเสพติด ที่ไหลจากมาเลเซียไปออสเตรเลีย ไปจนถึง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ อาวุธเถื่อน ซึ่งล้วนแต่เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้ขบวนการก่อความไม่สงบ เราพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น กล้องวงจรปิด รั้วไฟฟ้า ระบบไบโอเมทริกซ์ แต่มาเลเซียก็ยังไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะพื้นที่นี้เป็นฐานเสียงของนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาเลเซีย”
“ไฟใต้ดับปี 2569” คำสัญญาที่ต้องรอพิสูจน์
เมื่อถูกถามถึงคำประกาศของนายทักษิณที่ว่า “ปี 2569 ไฟใต้จะดับ” รศ.ดร.ปณิธาน ตอบว่า “ทุกคนก็อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ที่ผ่านมาคนเคยได้ยินคำพูดแบบนี้มาหลายครั้ง” เขาย้ำว่า การลดความขัดแย้งให้ได้ในหนึ่งปีนั้นเป็นไปได้ ถ้าสามารถ ดึงแกนนำตัวจริงมาเจรจา เปิดช่องทางเศรษฐกิจ และ ลดข้อผิดพลาดของภาครัฐ ที่เคยสร้างบาดแผลแก่ประชาชน
“แต่ถ้าทำไม่ได้ คนที่พูดก็ต้องรับผิดชอบ”
”ทักษิณ“ อำนาจและภาพลักษณ์ทางการเมืองในสมการความมั่นคง
อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกจับตาคือ บทบาทของนายทักษิณในการบัญชาการแก้ปัญหาไฟใต้ ซึ่งอาจมีการใช้อำนาจในฐานะ “ที่ปรึกษาประธานอาเซียน” แต่ภาพที่ออกมากลับทำให้เกิดข้อกังขา เพราะนั่งหัวโต๊ะบัญชาการ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม อยู่ร่วมโต๊ะ ซึ่งถูกมองว่าเป็น ”บทบาทล้ำเส้น“ หรือไม่ รศ.ดร.ปณิธาน ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจัดระบบให้ดี แต่มันยาก เพราะอดีตนายกฯ คนเกรงใจ ไม่มีใครกล้าสะกิดให้ลดบทบาท เพราะเสี่ยง พร้อมเตือนว่าถ้าปล่อยให้ภาพลักษณ์ทางอำนาจคลุมเครือว่าใครกันแน่คือผู้กำหนดทิศทางของรัฐบาล ไม่ปล่อยให้นายกฯ หรือ รมต.ที่เกี่ยวข้องมีบทบาทนำ สุดท้ายอาจเกิดปัญหาเหมือนสหรัฐที่เริ่มมีคำถามว่า ใครคือประธานาธิบดีตัวจริงระหว่าง ”ทรัมป์“ กับ ”อีลอน มัสก์“