Thepublisher ได้ข้อมูลจากคุณฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงเส้นทางน้ำที่กำลังหลากลงมาจากภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่านเข้าสู่ภาคกลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนครสวรรค์
เบื้องต้นปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำปิง ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ ไม่กระทบต่อการควบคุมปริมาณน้ำลงสู่ภาคกลาง เช่นเดียวกับลุ่มน้ำยมที่สามารถตัดยอดน้ำไปที่ทุ่งบางระกำ และทยอยรวมที่แม่น้ำน่าน ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้รับน้ำเพิ่มได้อีกเล็กน้อย จึงต้องระบายน้ำในระดับที่ไม่ให้ลำน้ำสาขาได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนน้ำป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 70% มีแนวโน้นที่เต็มอ่างเก็บน้ำ จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ รองรับฝนที่จะตกมาในอนาคตได้
ปริมาณทั้งหมดจากลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท จะสามารถจัดระบบบริหารจัดการน้ำ และคลองต่างๆ เพื่อผันน้ำไล่ลงมาจากชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ก่อนเข้าสู่ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการตามลำดับต่อไป คุณฐนโรจน์ บอกด้วยว่าในการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลให้พื้นที่ในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และชุมชนบางส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เฝ้าระวังและเตรียมยกของขึ้นที่สูง ก่อนจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ทาง สทนช. จึงเตรียมรับมือโดยการระบายออกซ้ายและขวา ตามลำน้ำสาขาเพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพนั้นเอง