นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ออกมาตอบโต้คำปราศรัยของนายทักษิณ ชินวัตร ระหว่างการหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 พาดพิงพรรคประชาชนในทำนองว่า พูดเก่งแต่ทำไม่เป็น โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาเรื่อง “พูดเก่ง แต่ทำไม่เป็น” เป็นข้อกล่าวหาที่คุณทักษิณควรสื่อสารกับใคร? พร้อมตั้งคำถามว่าหมายถึงรัฐบาลเศรษฐาและแพทองธารใช่หรือไม่ โดยยกสามตัวอย่างที่สะท้อนถึงพูดเก่งแต่ทำไม่เป็นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ดังนี้
ตัวอย่าง #1 : ค่าแรง
สิ่งที่พูด: ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ทุกอาชีพ ทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลาคม 2567 โดยจะประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่พร้อม ให้พร้อมภายในกรอบเวลาดังกล่าว (พูดไว้เมื่อ 2 พ.ค. 67)
.
สิ่งที่ทำ: ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 337-400 บาทต่อวัน โดยจะขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันเฉพาะ 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ เริ่ม 1 มกราคม 2568 (ตามมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 23 ธ.ค. 67)
ตัวอย่าง #2 : ค่าไฟ
สิ่งที่พูด: นายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยดูเรื่องราคาพลังงานและค่าไฟ เพราะมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเป็นต้นทุนในหลายด้านของครัวเรือน (พูดในที่ประชุม กพช. ในวันที่ 26 พ.ย. 67)
สิ่งที่ทำ: นายกฯ ปล่อยปละละเลย ไม่ขอมติจากที่ประชุม กพช. เพื่อเป็นแนวทางให้ กกพ. ระงับการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW (ที่มีปัญหาเรื่องการกีดกันการแข่งขัน ความไม่โปร่งใสของหลักเกณฑ์ และความซ้ำซ้อนกับนโยบาย Direct PPA) ทั้งๆที่การปล่อยให้สัญญาดังกล่าวเดินหน้าต่อไป จะทำให้ค่าไฟประชาชนแพงกว่าที่ควรจะเป็น (ถ้าจะอ้างว่านายกเป็นประธาน กพช. ที่มีแค่ 1 เสียงใน กพช. ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะประมาณ 2 ใน 3 ของคณะกรรมการคือรัฐมนตรีใน ครม. / หากจะบอกว่านายกฯไม่มีอำนาจกำหนดทิศทางของ กพช. ก็เทียบเท่ากับการบอกว่านายกฯไม่มีอำนาจกำหนดทิศทางของ ครม.)
และตัวอย่าง #3 : การปฏิรูปกองทัพ
สิ่งที่พูด: เพจพรรคเพื่อไทยประชาสัมพันธ์ว่าได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. กลาโหม สู่สภาฯ (เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 67) หลังจากที่เคยประกาศในเพจพรรคไปแล้วในวันครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร (22 พ.ค. 67) ว่า “วันนี้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ รื้อผลพวงรัฐประหาร [และ] แก้กฎหมายกลาโหม ป้องกันรัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ”
สิ่งที่ทำ: สส.พรรคเพื่อไทย ขอถอนร่าง พ.ร.บ. กลาโหม ออกมาแก้ไข โดยรองนายกฯภูมิธรรม (จากพรรคเพื่อไทย) ให้สัมภาษณ์ว่าร่างดังกล่าว “ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย” (ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67) ทั้งๆที่เสียงสนับสนุนของ สส. พรรคเพื่อไทย และ สส. พรรคประชาชน มีเพียงพอต่อการทำให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว (ถ้าจะอ้างว่าร่างดังกล่าวอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สว. ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะ สว. ไม่ได้มีอำนาจปัดตกร่างกฎหมายของ สส. โดยทำได้มากที่สุดคือการคัดค้านจนนำไปสู่การยับยั้งไว้ 180 วัน)
“รัฐบาลพรรคประชาชนจะทำนโยบายให้สำเร็จได้จริงตามที่พูดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในอนาคตแต่ 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้ว ว่าหลายอย่างที่รัฐบาลชุดนี้ได้พูดไว้ ยังทำให้เป็นจริงไม่ได้ อย่าให้เหตุผลว่านายกฯและพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลผสม เพราะทั้ง 3 ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ ล้วนเป็นคำสัญญาที่นายกฯและพรรคเพื่อไทยได้ให้ไว้กับประชาชน หลัง จากที่ได้ตั้งรัฐบาลผสมเข้ามาทำงานแล้ว และได้ทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว”