.
วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว หรือ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์และโรงมหรสพที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ในขณะนั้น เปิดให้บริการเป็นวันแรก โดยการฉายภาพยนตร์เรื่อง “มหาภัยใต้ทะเล” ทั้งยังเป็นอาคารที่ใช้ เครื่องปรับอากาศ [ระบบไอน้ำ (Chilled Water System)] แห่งแรกในประเทศไทย ในวันนั้นมีประชาชนไปชุมนุมกันอย่างเนืองแน่นจนการจราจรติดขัดไปทั่ว
.
ทั้งนี้ ในสมัยนั้นทั่วพระนครมีโรงภาพยนตร์อยู่ประมาณ 20 โรง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ตัวอาคารเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสี มีสภาพเก่าทรุดโทรม ไม่หรูหรา พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงโปรดภาพยนตร์เป็นพิเศษ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีสถานที่มหรสพขนาดใหญ่ ทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างคือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร และ นายนารถ โพธิปราสาท เป็นวิศวกร ใช้สถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับไทย
.
.
โดย “รัชกาลที่ 7” ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาทในการก่อสร้าง ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 โดยพระราชทานนามว่า ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี (ปี 2475) ศาลาเฉลิมกรุงเริ่มต้นด้วยการเป็นแหล่งนัดพบของผู้มีการศึกษา
.
ต่อมา เมื่อภาพยนตร์ไทยได้รับความนิยม ศาลาเฉลิมกรุง จึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นศูนย์กลางของความบันเทิงและเป็นแหล่งรวมศิลปินนานาแขนงไว้ที่นี่ ทั้งยังส่งผลให้พื้นที่โดยรอบเกิดการ พัฒนาแปรสภาพเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญมากมายอีกด้วย เมื่อแหล่งบันเทิงสมัยใหม่ ๆ เริ่มเกิดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด ประจวบกับกระแสสังคมเปลี่ยนผัน ทำให้ศาลาเฉลิมกรุงต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราวในปี 2536 ปิดปรับปรุงซ่อมแซมและเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2538 ปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงยังคงเปิดดำเนินการอยู่ ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด มิได้ฉายภาพยนตร์เหมือนโรงภาพยนตร์ทั่วไปในยุคปัจจุบัน แต่ถูกยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ จัดฉายภาพยนตร์และเปิดการแสดงมหรสพสำคัญ ๆ ในโอกาสต่าง ๆ
.
อ้างอิงข้อมูล : guru sanook