เสียงจากผู้ประกอบการถึงภาครัฐ ถอดบทเรียนหลังปิดตำนานปิ้งย่างคู่คนไทย สะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจธุรกิจอาหารที่ต้องเผชิญ
.
‘5 สิงหาคม’ ปิดตำนานร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่างสไตล์เกาหลีแห่งแรกในไทย ร้านไดโดมอน สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ก่อนบอกลาลูกค้าที่เหนียวแน่นยาวนานถึง 41 ปี อย่างถาวรไม่มีวันกลับ
.
หากย้อนดูถึงสภาพปัญหาของไดโดมอนจะพบว่า ที่ผ่านมา ได้ทยอยปิดตัวลงหลายสาขา หลังเผชิญภาวะขาดทุนสะสมกว่าพันล้านบาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน จากปัจจัยเรื่องของต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น และกำลังซื้อที่ซบเซา
ผลประกอบการ 5 ปี ล่าสุดของ บมจ. เจซีเค ฮอทพิทอลลิตี้ หรือ JCKH พบว่า
· ปี 2562 รายได้รวม 1,397 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 158 ล้านบาท
· ปี 2563 รายได้รวม 701 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 142 ล้านบาท
· ปี 2564 รายได้รวม 443 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 340 ล้านบาท
· ปี 2565 รายได้รวม 543 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 227 ล้านบาท
· ปี 2566 รายได้รวม 397 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 108 ล้านบาท
.
.
คาดธุรกิจอาหารปิดตัวแล้วกว่า 20,000 ราย
การโบกมือยกธงขาวจากตลาดธุรกิจอาหารของไดโดมอน เป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนวิกฤติธุรกิจร้านอาหารที่อาจจะล้มเป็นโดมิโนถ้าไม่ระมัดระวัง จากข้อมูลของฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย บอกกับ The Publisher ว่า “ตัวเลขจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดเผยว่ามีการปิดตัวลงของธุรกิจร้านอาหารมากกว่า 2000 รายสำหรับผู้ที่จดทะเบียน แต่สถิติจริง ๆ ถ้าประมาณการทั่วประเทศอาจจะมีมากกว่าหลายสิบเท่าตัวจนอาจจะมีถึงจำนวนมากกว่า 20,000 ราย จากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้บันทึกไว้ ได้รับเสียงร้องเรียนจากผู้ประกอบเดือดร้อนนับแสนรายที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้มาก ตอนนี้เราก็พยายามช่วยเหลือตัวเองกันอยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คงมีธุรกิจปิดตัวมากกว่านี้ ”
.
ดิจิทัลวอลเลท ช่วยรายใหญ่ ห่วงรายเล็กไปไม่รอด?
.
ตลาดเงียบเป็นป่าช้า กลายเป็นไวรัลในสื่อออนไลน์ เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าต่างสะท้อนออกมาจนเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งเหล่านี้ที่ไม่ปกติ เพราะเราอยู่ในภาวะปกติ แต่เศรษฐกิจกลับไม่ปกติ ซึ่งแม้แต่นายกสมาคมภัตตาคารไทยก็ยังแปลกใจ เพราะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารก็ซบเซาเป็นอย่างมาก สิ่งที่สมาคมภัตตาคารเรียกร้องรัฐบาลให้ออกมาช่วยเหลือ คือราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ทั้งการผลิตและค่าขนส่ง โดยหวังว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ลำพังมาตรการดิจิทัลวอลเลทที่ออกมาอาจจะช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถแบกรับต้นทุนได้ถึงไตรมาสที่ 4 แต่ผู้ประกอบการรายเล็กน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีรายได้เข้ามา เพียงพอในการหล่อเลี้ยงธุรกิจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะบีบให้เขาต้องกู้หนี้นอกระบบ
.
สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเลทที่กำลังออกมาในไตรมาสที่ 4 รัฐบาลได้ชี้แจงว่าจะช่วยกระจายเม็ดเงินไปยังร้านค้ารายย่อยในชุมชนไม่ใช่แค่รายใหญ่อย่างเดียว แต่ก็ยังเกิดข้อกังหาจากหลายภาคส่วนว่าจะเป็นการเอื้อทุนใหญ่อย่างเดียวหรือไม่ จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้ตามราคาคุยหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ งบประมาณสี่หมื่นห้าพันล้านบาท ที่แจกเงินหมื่นให้ประชาชน มาพร้อมกับหนี้ของประเทศชาติ มาตรการเศรษฐกิจ ที่ถูกทางจะใช่การแจกหรือไม่ สิ้นปีนี้ พอมองเห็น แต่สิ่งที่รอไม่ได้คือการประคองธุรกิจอาหาร ไม่เช่นนั้นการปิดตัวของ ‘ไดโดมอน’ อาจจะกลายเป็นโดมิโนแรก ๆ ก่อนที่ธุรกิจอาหารอื่น ๆ จะค่อย ๆ ล้มระเนระนาดมากกว่านี้
.
คำหาเสียงที่กล่าวว่า “เลือกเศรษฐา คนไทยจะเป็นเศรษฐี” อาจกลายเป็นแค่ลมปาก เพราะความรู้สึกของคนไทยในช่วงเวลานี้ อย่าว่าแต่เป็นเศรษฐีเลย แค่ผ่านไปแต่ละวันคงยากเลย…
เรื่องและภาพ โดย พุธ พงศ์ภัค สามงามยา