.
“ขยะเคมี” คือ ขยะที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อน เป็นขยะที่ต้องมีการจัดทิ้งอย่างถูกต้อง เป็นขยะที่ไม่สามารถทิ้งรวมกับขยะทั่วไปได้ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบอันตรายต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้อื่นได้ ซึ่งเรื่องราวนี้เอง “อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนภัยประชาชนว่า “ไม่ควรเอาถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ไปถูกความร้อนสูง (รวมถึงไปเคาะกระแทกแรง ๆ ด้วย)”
.
พร้อมระบุ “วันนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่บอกว่าเป็นการเล่าความลับที่โรงงานผลิตถ่ายไฟฉาย-แบตเตอรี่ ไม่อยากให้คุณรู้ นั่นคือ ถ้าถ่านหมด อย่าทิ้ง ให้เอามาแช่น้ำร้อนจัด+แช่น้ำเย็นน้ำแข็ง หรือเอามาเคาะพื้น ถ่านจะกลับมาใช้งานได้อีกหลายเดือน” พร้อมทั้งมีการทำการทดลองให้ดูด้วยว่าถ่านที่หมดแล้ว ใส่นาฬิกาก็ไม่เดิน สามารถกลับมามีไฟฟ้าใช้ได้ใหม่อีกครั้ง จนเรื่องราวนี้ทำให้มีผู้คนสนใจเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นการตั้งคำถามว่า “วิธีนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่” และ “เป็นอันตรายหรือเปล่า”
.
.
ซึ่ง “แบตเตอรี่” หรือ “ถ่านไฟฉาย” เป็นแหล่งสะสมพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากปฏิกิริยาของสารเคมีให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าและสามารถเอาไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งวิธีการกระตุ้นด้วยอุณหภูมิ หรือด้วยแรงกระแทกตามวิดีโอคลิปดังกล่าว “ไม่ได้ช่วย” ให้เกิดพลังงานไฟฟ้าอย่างแท้จริง แต่เหมือนเป็นการ “เค้น” ให้ถ่านไฟฉายมันปล่อยพลังงานไฟฟ้าออกมาให้เกลี้ยงที่สุด
.
และแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่ “ผลที่ดี” อย่างแน่นอน เพราะมันอาจไปสร้างความเสียหายกับองค์ประกอบภายในก้อนถ่าน รวมถึงซีลเปลือกนอกที่ห่อหุ้มถ่านเอาไว้ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายจากการที่ถ่านรั่วซึม สารเคมีรั่วไหลออกมา หรือแตกเสียหาย จึงไม่ใช่วิธีการที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน และไม่ควรทำตามเป็นอย่างยิ่ง
.
.
เนื่องจากภายในถ่านไฟฉายมีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และกรดซัลฟิวริก เป็นต้น ซึ่งสารเคมีเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ผ่านระบบทางเดินหายใจและการซึมเข้าผิวหนัง นอกจากจะไม่ควรทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ แล้ว ยังไม่ควรทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ หรือ ห้ามเผาอย่างเด็ดขาด! ควรแยกทิ้งต่างหาก พร้อมกับติดป้ายเตือนว่า “ขยะมีพิษ” เพื่อแจ้งให้คนเก็บขยะทราบ หรือนำไปทิ้งในกล่องที่รับทิ้งถ่านไฟฉาย-แบตเตอรี่โดยเฉพาะ
.
สำหรับคำแนะนำในการใช้ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ที่ถูกต้องเหมาะสม มีดังนี้
- ควรเปลี่ยนถ่านพร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน ไม่ปะปนกับถ่านเก่า
- ปิดสวิตช์อุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน อย่าเปิดค้างไว้โดยไม่จำเป็น
- ไม่ควรนำถ่านหลายชนิดหรือหลายยี่ห้อมาใช้ปะปนกัน
- นำถ่านออกจากอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน
- ตรวจสอบวิธีการใส่ถ่านและขั้วถ่านให้ถูกต้องเสมอ
- ไม่แกะชิ้นส่วนถ่านออกมาเล่นและไม่ควรวางถ่านไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง
- หลีกเลี่ยงการทำให้ถ่านเกิดการช็อตกัน
- ห้ามนำถ่านที่ชาร์จไฟไม่ได้มาชาร์จไฟใหม่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
- ควรซื้อถ่านไฟฉายจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือยี่ห้อที่มีการรับรองความปลอดภัย ไม่ควรซื้อถ่านไฟฉายราคาถูก เพราะจะได้ถ่านไฟฉายที่ไม่มีคุณภาพและอาจเกิดอันตรายขณะใช้งาน
.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : Jessada Denduangboripant
ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #ถ่านไฟฉาย #ขยะอันตราย #แบตเตอรี่
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://www.thepublisherth.com