.
กลายเป็นกระแสสังคม กับแฮชแท็ก #Saveทับลาน ประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงในหลายมิติ เมื่อ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” โพสต์เปิดรับฟังความเห็น ในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยประเทศไทยจะเสียพื้นที่ป่าไปกว่า 265,286.58 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. -12 ก.ค. 67 เป็นที่วิพากย์วิจารณ์ของสื่อมวลชน ประชาชน และเหล่าผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการ ต่างออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าว
.
ปัจจุบัน คำว่า “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นคำที่ทุกองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างพร่ำพรรณนาถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ในวันนี้พื้นที่ป่า 2.6 แสนไร่กำลังจะหายไป
.
The Publisher ขอชวนทุกท่าน มองประเด็นนี้ด้วยกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่พูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่วมกันตั้งคำถามต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันต่อไป
.
ถ้าต้องเสียพื้นที่ป่า 2.6 แสนไร่ “ประเทศไทยได้อะไรบ้าง ?” หากมองตามกรอบของ “ความยั่งยืน” จริง ๆ นี่อาจไม่ใช่คำถามที่ตรงประเด็นที่สุด คำถามที่ตรงประเด็นที่สุดอาจต้องเป็น….
.
.
“ประเทศไทยเสียอะไรบ้าง ?”
.
ในมิติของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ :
.
ในยุคที่คนไทยจำนวนมากโหยหาซึ่ง “อากาศสะอาด” และทั่วโลกพูดถึงการรับมือกับ climate change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) การฟื้นฟูสภาพอากาศที่ย่ำแย่ และการขับเคลื่อนอย่างมีแนวทางในการต้านภัยโลกร้อน เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล
.
โดยธรรมชาติ ป่าดิบชื้น 1 แสนไร่ สามารถสร้างออกซิเจนได้ประมาณ 200,000 ตันต่อปี (ถ้า 2.6 แสนไร่ ก็จะสามารถสร้างออกซิเจนได้ประมาณ 520,000 ต่อปี)
.
โดยหากยึดตามจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ในปี พ.ศ. 2564 – 2566 มีวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานมากกว่า 450 วัน
.
คำถามคือ ในยุคนี้ เป็นยุคที่ต้องพูดถึงเรื่องการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า หรือการเฉือนพื้นที่ป่ากันแน่ ?
.
มิติของการปกป้อง ฟื้นฟู สนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบก และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน :
.
จากข้อมูลของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประมาณการเอาไว้คร่าว ๆ ว่าป่าดิบชื้น 1 แสนไร่ในประเทศไทย อาจมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ประมาณ 10,000 – 20,000 ตัว สัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้นของไทย ได้แก่
.
เช่นนั้น อาจประมาณการได้ว่า พื้นที่ป่า 2.6 แสนไร่ จะมีสัตว์ป่าประมาณ 26,000 – 52,000 ตัวอาศัยอยู่ ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนสัตว์ป่าที่แท้จริงอาจมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขที่ระบุไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ
.
.
โดยสัตว์ประเภทต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติทับลาน อาทิ ช้าง กวาง หมูป่า ลิง กระรอก ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ สัตว์เลื้อยคลาน งู กิ้งก่า เต่า ก็จะได้รับผลกระทบ
.
ในกรณีนี้ มีกลุ่มประชาชน และภาคประชาสังคมออกมาเคลื่อนไหว โดยทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกมาโพสต์ตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อกังวล ว่าการจัดการของภาครัฐในลักษณะแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหลายส่วน โดยเฉพาะการทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งอาจกลายเป็นเหตุของการเพิ่มความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น
.
คำถามคือ รัฐบาลมีมาตรการรองรับต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อทุกชีวิตในพื้นที่หรือไม่ ?
.
ในมิติของการยุติความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทุกรูปแบบในทุกที่ :
.
หลังจากที่มีการรายงานข่าวออกไป ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย ในแง่ของการได้สิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งสามารถนำไปสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตชาวบ้านละแวกนั้นได้
.
ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ผู้ได้ประโยชน์จริงอาจจะไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่จะตกไปที่นายทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ต้องคำนึงถึงอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรื่องนี้อาจนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศของสัตว์ป่า
.
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจการถือครองที่อยู่ที่ทำกินให้กับราษฎรที่อยู่ดั้งเดิม ให้อยู่อาศัยทำมาหากินได้ และทำแล้วทั่วประเทศ เนื้อที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่
.
นายชัยวัฒน์ฯ ยังเคยออกมาเปิดเผยว่า ทับลานเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มทุนเข้าไปมากที่สุด มีการซื้อขายที่ดิน หรือเปลี่ยนมือ รวมถึงการเข้าไปสร้างโรงแรม รีสอร์ท และมีการจับดำเนินคดีมาโดยตลอด หลังจากปี 2554 ทั้งในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน หรือกรณี ส.ป.ก. ออกล้ำนอกเขตอีก 900 ไร่ และขยายเข้ามาในอุทยานฯ รวมหลายพันไร่
.
คำถามคือ การเฉือนพื้นที่ป่า จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้จริงหรือไม่ ?
.
ถ้าจะใช้วิธีการเฉือนป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทำกิน รัฐบาลมีแผนหรือแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหรือไม่ ? อย่างไร ?
.
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเห็นสิ่งที่ประเทศไทยอาจต้องเสียไปพร้อมกับป่า 2.6 แสนไร่แล้วนั้น ถึงจะสามารถตั้งคำถามต่อไป ว่า…
.
ประเทศไทยได้อะไร ?
.
ได้คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ ?
.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการรองรับผลกระทบ มีแผนหรือแนวทางการพัฒนาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนในพื้นที่หรือไม่ ?
.
รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ เรื่องความคุ้มค่าจากการเฉือนพื้นที่ป่าไปขนาดนั้น รวมถึงแผนและแนวทางที่ชัดเจนที่สามารถทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความคุ้มค่าจากการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานในครั้งนี้
.
หากตอบคำถามไม่ได้ หรือยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการพื้นที่ในระยะสั้น กลาง ยาว
.
เกรงว่าจะเป็นประเด็นนี้ อาจกลายเป็นภาพจำเกี่ยวกับผลงานและมาตรฐานการทำงานด้านความยั่งยืนของรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงฉายภาพมาตรฐานของคำว่า “ความยั่งยืน” ในอนาคตหลังจากนี้ 2-3 ปีเช่นกัน
.