“ผมไม่ได้ซื้อข้าว ผมต้องขอบคุณผู้สนับสนุนที่ให้ผมข้าวมาเยอะ ผมจึงมีข้าวอยู่เต็มบ้านจนสามารถขายได้เลย” (18 พ.ค.68)
เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ เอโตะ ทาคุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ที่พูดถึงวิกฤตราคาข้าวพุ่งสูง ก่อนที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน และพรรคฝ่ายค้าน ที่มองว่าไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก กระทั่งเจ้าตัวต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเมื่อเช้าวันนี้ (21 พ.ค.68)
เหตุผลสำคัญที่ลาออก เพราะความไว้วางใจของประชาชนมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และหากความไว้วางใจนั้นถูกทำลาย การลาออกจะเป็นผลดีต่อประชาชนมากที่สุด พร้อมกล่าวขอโทษประชาชนอย่างจริงใจต่อความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ทำให้หลายคนอดไม่ได้ต้องนำมาเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีของไทย ว่าทำไมถึงแตกต่างกันอย่างมาก
คำว่า “สปิริต” สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม และ บรรทัดฐานทางสังคม ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักการเมืองในแต่ละประเทศ ในญี่ปุ่นคือความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำ มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส รวมถึงวัฒนธรรมความละอาย ที่การลาออก การโค้งคำนับขอโทษคือวิธีรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี
ส่วนรัฐมนตรีไทย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคำพูดหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม กระทั่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน หรือเกิดเหตุร้ายในความรับผิดชอบ ยังบอกปัดป่ายให้เป็นเรื่องของคนอื่น
การลาออกพบเห็นได้น้อยกว่ามาก เพราะยึดติดตำแหน่งและอำนาจ ปกป้องผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง อ้างรอคำตัดสินตามกฎหมาย เพื่อให้เรื่องเงียบหาย ขาดสำนึกเรื่องความละอาย สุดท้ายคือ ความอ่อนแอของกลไกตรวจสอบ ที่ไม่เข้มแข็งจนกดดันให้แสดงสปิริต
จึงมีคำถามว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยจะพัฒนาไปสู่จุดที่ นักการเมืองแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำได้มากขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ และเมื่อไหร่ #ThePublisherTH#สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม#รมตญี่ปุ่นลาออก#รัฐบาลไทย#รมตไทย