สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 แสดงความกังวลและไม่สบายใจต่อกรณีทีมงานด้านภาพลักษณ์และสื่อสังคมออนไลน์ของนายกรัฐมนตรี บันทึกและเผยแพร่ภาพใบหน้าสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับปมข้อพิพาทไทย–กัมพูชา โดยระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายคุกคามเสรีภาพสื่อ สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และเป็นการบั่นทอนบทบาทการตรวจสอบของสื่อในระบอบประชาธิปไตย และหวังให้รัฐบาลเคารพเสรีภาพสื่อ และสร้างสภาพแวด้อมที่เอื้อต่อการทำหน้าที่อย่างปลอดภัย
ปมเริ่มจากคำถามถึงนายกฯ เรื่องชายแดน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568 ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ตั้งคำถามต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางแก้ปัญหาพิพาทชายแดนไทย–กัมพูชา ก่อนที่ภาพใบหน้าของผู้สื่อข่าวรายดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของทีมงานนายกฯ และตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล โดยทั้งหมดเกิดขึ้นหลังนายกฯ แสดงท่าทีไม่พอใจต่อคำถามของสื่อมวลชน
สมาคมฯ ย้ำ เสรีภาพสื่อคือหลักการประชาธิปไตย
แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุข้อสังเกต 3 ประการ ได้แก่
1. การถ่ายภาพและเผยแพร่ภาพสื่อมวลชนขณะตั้งคำถามผู้บริหารประเทศ อาจเป็นการกดดันหรือข่มขู่ และบั่นทอนหลักเสรีภาพของวิชาชีพ
2. พฤติกรรมดังกล่าวสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวที่ประชาชนต้องการคำอธิบาย
3. สมาคมฯ เรียกร้องให้ทีมงานนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หยุดพฤติกรรมที่อาจตีความได้ว่าเป็นการคุกคาม และขอให้รัฐบาลส่งเสริมเสรีภาพสื่อโดยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและเป็นอิสระ
ขอรัฐบาลเคารพบทบาทสื่อ-หยุดสร้างแรงกดดัน
ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ สมาคมนักข่าวฯ ย้ำว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในฐานะกลไกตรวจสอบและกระบอกเสียงของประชาชน และรัฐบาลควรแสดงความเคารพต่อบทบาทดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมกันสร้างบรรยากาศเอื้อต่อการทำงานของสื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพเป็นอิสระ
#สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #เที่ยงเปรี้ยงปร้าง #รัฐบาลแพทองธาร #รัฐบาล #ครม #คุกคามสื่อ #สมาคมนักข่าว