ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังซบเซาและประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลเดินหน้าใช้ทุกเครื่องมือที่มี รวมถึงแรงกดดันต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่การกดดันนี้เหมาะสมหรือไม่? การลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจได้จริงหรือ The Publisher ชวนทุกคนร่วมวิเคราะห์ ผ่านมุมมองของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ถึง ความพยายามของรัฐบาลในการบีบ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) และธปท. ให้ลดดอกเบี้ย โดยย้ำว่า นโยบายการเงินต้องเป็นอิสระจากการเมือง และการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกของปัญหาทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
กดดันแบงก์ชาติ = โปร่งใส หรือ เกมการเมือง?
ดร.นณริฏ มองว่าการที่ ครม. ส่งหนังสือถึง ธปท. สองรอบ เพื่อขอให้ลดดอกเบี้ย ถือเป็นสิทธิของรัฐบาล ในการเสนอข้อมูล เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยทั้ง นโยบายการเงิน (ธปท.) และนโยบายการคลัง (รัฐบาล)รัฐบาลสามารถให้ข้อมูลว่าทำไมต้องลดดอกเบี้ย แต่สุดท้าย เป็นเอกสิทธิ์ของ กนง. ที่จะตัดสินใจ เพราะหาก กนง. ต้องทำตามรัฐบาลทุกอย่าง ธปท. ก็จะไร้อำนาจและถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ในอีกแง่หนึ่งการที่รัฐบาลกดดันผ่านสาธารณะอาจมองได้ว่าช่วยให้เกิดความโปร่งใสว่ารัฐบาลกำลังคิดอะไรอยู่
“ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลหรือ ธปท. ก็ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะเมื่อได้อำนาจไปแล้ว จะทำอะไรก็ได้ไม่ได้ ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมถึงต้องลด หรือไม่ลดดอกเบี้ย”
ดร.นณริฏค้านลดดอกเบี้ย ชี้เสี่ยงระยะยาว
แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้ กนง. ลดดอกเบี้ย แต่ ดร.นณริฏ ยังเห็นว่าช่วงนี้ยังไม่ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมี ความเสี่ยงจากนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“ถ้าผมเป็น กนง. คงตัดสินใจ คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เพราะการลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป อาจทำให้เราเสียโอกาสในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในอนาคต” ดร.นณริฏกล่าว พร้อมชี้ถึง 3 เหตุผลที่การลดดอกเบี้ยมีความเสี่ยง คือ อาจทำให้ค่าเงินบาทผันผวน – อัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อ ค่าเงินบาท ซึ่งกระทบการส่งออก-นำเข้า และหนี้ต่างประเทศ อีกทั้งยังเสี่ยงเงินเฟ้อในอนาคต – หากกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะ เงินเฟ้อรอบใหม่ ที่สำคัญคือไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงไปที่ต้นเหตุของเศรษฐกิจซบเซาไม่ใช่ดอกเบี้ยสูง แต่เป็นเพราะไม่มีการปรับโครงสร้าง
ตราบใดที่เราไม่ปรับโครงสร้าง ลดดอกเบี้ยไปก็ไม่มีประโยชน์ การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแค่ น้ำหล่อลื่นเท่านั้น และสุดท้ายการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทางตันในที่สุด
รัฐบาลเล่นเกมระยะสั้น แค่ฉาบฉวย แต่ไม่ยั่งยืน
หนึ่งในข้อวิจารณ์ที่หนักที่สุดของ ดร.นณริฏ คือ รัฐบาลมุ่งทำแต่นโยบายฉาบฉวย ที่เน้นกระตุ้นระยะสั้น เช่น โครงการ แจกเงินดิจิทัล การ บีบให้ลดดอกเบี้ย และการพยายาม ขยายเพดานหนี้สาธารณะ เศรษฐกิจไทยติดกับดักโครงสร้าง รัฐบาลต้องเลิกทำแต่นโยบายกระตุ้นแบบนี้ เลิกบังคับแบงก์ชาติ และหันมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อย่างจริงจัง การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจใช้เวลา 5-10 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐบาลอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว ทำให้รัฐบาลไม่อยากลงทุนระยะยาว เพราะผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับรัฐบาลชุดถัดไป
“รัฐบาลจึงเลือกที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร็ว ๆ แทน แต่สุดท้ายก็จะเป็นเหมือนการตำพริกละลายแม่น้ำ ก่อหนี้มหาศาลแต่เศรษฐกิจไม่กระเตื้อง หรือกระเตื้องแค่นิดเดียว”
ค้านเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ
อีกประเด็นร้อนที่ ดร.นณริฏ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือข้อเสนอของ อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการ ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 70% ของ GDP ให้สูงขึ้นอีก
“เราเพิ่งขยายเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70% ช่วงโควิด ตอนนี้หนี้สาธารณะก็ใกล้เพดานแล้ว แต่ เศรษฐกิจกลับเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.7-3% ซึ่งต่ำกว่าก่อนโควิดที่โต 3.6% ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นหนี้เราน้อยกว่านี้”
หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เศรษฐกิจกลับไม่โต นี่คือสัญญาณว่าระบบเศรษฐกิจไทย ต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การอัดฉีดเงินและกระตุ้นระยะสั้น “ถึงเวลาต้องหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจ หันมาปรับโครงสร้างจริงจัง!” เป็นข้อเสนอทิ้งท้ายของดร.นณริฏ