แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของไทยและของครอบครัวชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
ความเป็นแม่ของเธอถูกนำเสนอผ่านสื่อในหลายวาระ โดยเฉพาะภาพของ เธอกับลูกๆ บนสนามหญ้าสีเขียวหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งกลายเป็นไวรัล สื่อสารถึง “หัวใจแห่งครอบครัว” ของนายกฯ ที่หลายคนมองว่าเป็นภาพของความอบอุ่นและเป็นกันเอง แต่ขณะเดียวกัน ภาพนี้ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม เมื่อในวันเดียวกัน(18 มี.ค.68) กลุ่มเกษตรกรจาก 19 จังหวัดได้นำปลาหมอคางดำจำนวน 5 ตันมาเทประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล
เสียงร้องทุกข์ของประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาปากท้อง ถูกเปรียบเทียบกับภาพของนายกฯ ที่กำลังเล่นกับลูก ภาพเดียวกันนี้จึงถูกตีความแตกต่างกันไป
ครอบครัว vs. ประเทศ: คำถามถึงบทบาทผู้นำ
ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ครอบครัว” คือสิ่งสำคัญของมนุษย์ทุกคน รวมถึงผู้นำประเทศ แต่คำถามสำคัญคือ “เมื่อก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ครอบครัวของเธอควรหมายถึงแค่ลูกๆ หรือควรรวมถึงประชาชนทั้งประเทศด้วย?”
ภาพนายกฯ กับลูกบนสนามหญ้า อาจเป็นเรื่องปกติของครอบครัวทั่วไป แต่สำหรับ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ภาพนี้ย่อมถูกมองในมุมการเมือง เพราะทุกการกระทำของเธอ สะท้อนถึงท่าทีของรัฐบาลต่อปัญหาของประชาชน และต้องไม่ลืมว่าสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ที่ทำงานนายกฯ ไม่ใช่สนามหญ้าหน้าบ้านที่จะเอาลูกมาวิ่งเล่น โดยไม่คำนึงถึงกาลเทศะ
ในขณะที่ครอบครัวของแพทองธารได้ใช้สนามหญ้าของทำเนียบฯ เป็นที่วิ่งเล่น เกษตรกรที่เทปลาหมอคางดำหน้าทำเนียบฯ กลับไม่มีแม้แต่ที่ให้ยืนในระบบเศรษฐกิจ พวกเขากำลังดิ้นรนให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาปากท้อง แต่คำถามคือ เสียงของพวกเขาจะไปถึงหัวใจของผู้นำที่ดูเหมือนว่า “หัวใจคือครอบครัว” ได้หรือไม่?
ภาพสะท้อนของ “รองเท้าไข่มุก”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย อาจสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างชีวิตของชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป คำพูดของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนที่กล่าวระหว่างลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนของเกษตรกร อาจสะท้อนความรู้สึกนี้ได้เป็นอย่างดี
“เท้าไม่ติดดิน ผมไม่รู้รองเท้าไข่มุก เวลามันใส่แล้วมันลอยจากพื้นหรือยังไง เท้าติดดินบ้างได้ไหมอะ เอาไปกินบ้างได้ไหม จะได้รู้ว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย ทำไมครับ หรือว่ารองเท้าไข่มุก คู่ละ 50,000 กว่าบาท ใส่แล้วมันลอยจากพื้น ตีนเนี่ยแดงเลย ติดพื้นไม่ได้”
คำพูดนี้ไม่ได้เป็นแค่การเสียดสี แต่สะท้อนถึงปัญหาที่ประชาชนรู้สึกว่าผู้นำประเทศอาจไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของพวกเขาจริงๆ
หัวใจของนายกฯ ควรเป็นของใคร?
แพทองธารอาจเป็นแม่คนหนึ่งที่รักลูก แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี คำว่า “ครอบครัว” ควรหมายถึง ประชาชนทั้งประเทศ ที่เธอให้คำมั่นว่าจะดูแล
การเป็นผู้นำที่ดี ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งครอบครัวส่วนตัว แต่หมายถึงการทำให้ประชาชนรู้สึกว่า พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัว” เดียวกับผู้นำประเทศ
หัวใจของแพทองธารคือครอบครัวจริงหรือ?
หาก “ครอบครัว” ของเธอหมายถึงประชาชนทั้งประเทศ เธอจะรับฟังเสียงของเกษตรกรที่ยืนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือไม่?
นี่คือคำถามที่ประชาชนกำลังรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทย #ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #รัฐบาลแพทองธาร #ปลาหมอคางดำ #BIOTHAI