จากประเด็นที่รัฐบาลไทยถูกประณามจากนานาชาติ หลังส่งตัวนักกิจกรรมฝ่ายค้านกัมพูชา 6 คนและเด็กชาย 5 ขวบอีก 1 คนกลับประเทศ ท่ามกลางคำถามสำคัญเรื่องการละเมิดหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า “รัฐบาลประชาธิปไตย” ซึ่งอาจเป็นความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกัมพูชา โดยไม่นำพาว่าทั้งหมดอาจเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายหรือไม่ The Publisher ได้คุยกับ คุณสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา ฮิวแมน ไรต์ วอร์ต อย่างเจาะลึกในเรื่องนี้
The Publisher : จากประเด็นที่เกิดขึ้น มีประเด็นไหนให้มองได้บ้าง
สุนัย ผาสุก : ไทยส่งกลับนักกิจกรรม ที่สังกัดพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา เป็นการบังคับส่งกลับโดยละเมิดทางกฎหมายไทย และกฎหมายต่างประเทศ โดยกฎหมายไทยมีกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ที่ห้ามส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย คำถามคือในกัมพูชา คนที่เป็นสมาชิกฝ่ายค้านมีอันตรายไหม ต้องบอกว่าอันตราย ตั้งแต่อาจถูกยัดข้อหา ถูกปฏิบัติโดยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระหว่างที่ควบคุมตัวระหว่างที่สอบสวน ถึงขั้นถูกอุ้มหายได้
ส่วนกติกาสากลก็คือกฎหมายจารีตประเพณี ถึงประเทศไทยจะอ้างว่า ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่เรื่องไม่ให้ส่งบุคคลไปเผชิญอันตราย มันเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ไม่เกี่ยวกับการที่ไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยหรือเปล่า กฎหมายจารีตประเพณีมันผูกมัดไทยและที่สำคัญไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต้องทำตัวให้สมกับมาตรฐานนี้
แต่กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับชาวกัมพูชา เป็นข้อพิสูจน์ว่าพฤติกรรมของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ดีขึ้นเลย และเรื่องของการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคคสช. ต่อเนื่องมาจนถึงยุครัฐบาลเศรษฐา ยุครัฐบาลปัจจุบันมันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลแต่การจัดผู้ลี้ภัยส่งกลับไปประเทศต้นทาง ที่มีอันตรายยังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
The Publisher : ตอนนี้บอกมาโดยตลอดว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ในมุมมองของคุณสุนัยผิดหวังหรือไม่ที่มีนโยบายแบบนี้
สุนัย ผาสุก : เรามีความคาดหวัง ใช่ครับว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจากระบอบ คสช. ทหารเต็มตัวมาเป็นทหารครึ่งตัว อย่างยุครัฐบาลประยุทธ์ หลังจากนั้นก็เป็นรัฐบาลคุณเศรษฐา คุณแพรทองธาร มันก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมด้านเคารพหลักสิทธิมนุษยชนมันก็ควรดีขึ้น โดยสามัญสำนึกเราก็คาดหวังแบบนั้น และที่สำคัญพอได้ตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ยิ่งต้องผลักดันให้ทำตัวดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าทั้งหลายทั้งปวงมันไม่ไปในทางที่สอดคล้องกัน ก็คือพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราตั้งข้อสังเกตไว้ถึงขนาดทำรายงานว่า มีรูปแบบของการใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกับรัฐบาลประเทศเผด็จการต่างๆ ในการไล่ล่าติดตามคนเห็นต่างที่หลบหลีกลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคนมีถิ่นฐานในไทย หรืออาศัยไทยเป็นทางผ่านไปต่อยังประเทศอื่น มีการไล่ล่า จับตัวคนส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง หรือหลับตาข้างหนึ่งให้เข้ามาลักพาตัว ซุึ่งยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ที่ให้ต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการลักพาตัวคนที่เป็นเป้าหมายเอากลับไป โดยไม่เคารพกฎหมายไทย
ยกตัวอย่าง กรณีของกัมพูชา กักตัวผู้หนีภัยชาวเวียดนาม หรือ ลาวก็เข้ามาลอบสังหารในไทย แค่ยกตัวอย่างสามประเทศ ฉะนั้นมันเป็นสภาพที่ ฮิวแมนไรต์ วอตซ์ บัญญัติศัพท์ขึ้นมาว่าไทยทำข้อตกลงที่ลักษณะเหมือนกับเป็นตลาดแลก ก็คือแลกกันว่าต่างชาติอยากได้ผู้ลี้ภัยคนไหนที่หนีมาอยู่ในไทย จะส่งให้หรือปล่อยให้เข้ามาอุ้มตัวไป ขณะเดียวกันคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็เปิดทางให้เข้าไปล่าจับตัว สภาพมันเลยเหมือนเป็นตลาดแลกเปลี่ยน
The Publisher : กรณีของกัมพูชา ที่ก่อนหน้านี้คนการเมืองใช้กัมพูชาเป็นแหล่งกบดานด้วย สายสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้เลยทำให้การส่งตัวง่ายขึ้นหรือไม่
สุนัย ผาสุก : เป็นที่รับรู้กันว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลของไทย กับพรรคประชาชนกัมพูชามาต่อเนื่องยาวนาน และในห้วงเวลาหนึ่งก็เปิดทางให้คนเสื้อแดงหนีคดีจากประเทศไทย คดีความมั่นคงต่างๆไปอยู่ในกัมพูชา ภายใต้ความคุ้มครองของพรรคประชาชนกัมพูชา มอบหมายให้ที่ปรึกษาของอดีตนายกฮุนเซนให้มาเป็นคนดูแล พอถึงห้วงเวลาหนึ่งก็ตัดเชือกผู้ลี้ภัยบางคนที่เป็นคนไทยในกัมพูชา อย่างกรณีของวันเฉลิม ถูกอุ้มหายหน้าคอนโดที่จัดให้เป็นเซฟเฮาส์สำหรับคนเสื้อแดงลี้ภัย
หลังจากนั้นไม่มีการช่วยติดตามใดๆ มันผิดปกติอย่างมาก หลังจากนั้นคนกัมพูชาที่อยู่ในไทย ก็หนาวหนาวร้อนร้อนว่าจะถูกเอามาแลกอะไร แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ก็มีการจับตัวส่งไป บางรายที่รอดมาได้หวุดหวิด ซื้อของอยู่ในเซเว่น มีคนกลุ่มชายลึกลับ พูดภาษากัมพูชาเอาเครื่องช็อตไฟฟ้ามาจี้ ถ้าคนในเซเว่นไม่ช่วยป่านนี้ก็ถูกอุ้มกลับไปแล้วอุกอาจถึงขนาดนั้นเลย
The Publisher : ตอนนี้ในส่วนของทั้งยูเอ็น แล้วก็กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนก็เหมือนกับประณามรัฐบาลในเรื่องนี้คิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ ในตอนนี้กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
สุนัย ผาสุก : เรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย และประเทศไทยอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบริบทว่าไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ควรจะมีมาตรฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนสูง แต่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นมันย้อนแย้ง ข้อที่สองคือทางไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทรมานต่อต้านการอุ้มหาย แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่ได้เป็นตามนั้น ที่สำคัญคือไม่เคารพทั้งกติการะหว่างประเทศ และกฎหมายไทยเอง ทำให้ภาพของประเทศ ไทยและรัฐบาลไทยมีปัญหาอย่างมาก
กรณีกัมพูชาเห็นได้ชัดว่า มีลักษณะการแอบทำจับตัวแล้วก็ส่งตัวช่วงเวลาสุดสัปดาห์ เวลาที่ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเข้าไปช่วยในทันรวบรัดตัดตอน เป็นการส่งกลับโดยไม่ผ่านการคัดกรองตามที่ควรจะเป็น โดยใช้ช่องทางอ้างว่าเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งที่เขามีบัตรสหประชาชาติ มันมีความผิดปกติอยู่เยอะ
The Publisher : จะมีการทำหนังสือหรือเรียกร้องรัฐบาลไหม
สุนัย ผาสุก : มีความเคลื่อนไหวมีแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ และล่าสุดผมโพสต์ในทวิตคนดูจะถึงล้านแล้ว แสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของพรรคการเมืองในไทยและกัมพูชา ส่วนองค์กรระหว่างประเทศ เช่นสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา องค์กรประชาธิปไตยระหว่างประเทศ ก็ตำหนิเรื่องนี้ ที่สำคัญพูดว่าประเทศไทยจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาการลี้ภัยอีกแล้ว ถึงจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่อ้างตัวเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็ตาม
สามารถติดตามรายการเที่ยงเปรี้ยงปร้างเต็มๆได้ที่