ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของ รมว.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ถึงความคืบหน้าในการสอบสวนปมเหล็กไม่ได้มาตรฐานที่พบในซากตึกสตง.ถล่มว่า การตรวจสอบดำเนินการที่ตัวเหล็กเป็นหลัก ซึ่งโรงงาน “ซินเคอหยวน” ถูกปิดไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2567
ขีดเส้น 7 วัน แจงล็อตเหล็ก จ่อแจ้งเตือน
“เหล็กสำคัญคือเบอร์ 20 กับ 32 ซึ่งเป็นเบอร์ทำเสา พบว่ามีปัญหาไม่ได้มาตรฐาน กำลังขยายผลตรวจสอบ แต่โรงงานก็เถียงมาก ในทางคดีอาญาเป็นเรื่องของดีเอสไอ แต่ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเราเป็นห่วงว่ารายการเหล็กที่พบว่ามีปัญหาผลิตในปี 63 ต้องส่งมาทั้งหมดว่าขายไปให้ใครบ้างภายใน 7 วัน ซึ่งตอนนี้เหลือห้าวันแล้ว ถ้าเรารู้ว่าล็อตไหนส่งไปให้เอเยนต์ไหนต้องมีการเตือนไปที่เอเยนต์นั้นว่า มีอาคารไหนเอาไปใช้บ้างต้องดูเรื่องการเสริมแรงก่อนเกิดปัญหา เพราะถ้าเหล็กไม่ได้คุณภาพต้องแจ้งเตือนให้ถูกต้อง อย่าไปกังวลว่าจะเกิดความตื่นตระหนก การแจ้งข้อมูลเพื่อแก้ไขคือการป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมอีก ถ้าซินเคอหยวนไม่ส่งเอกสารก็จะดำเนินคดีอย่างเต็มที่”
เปิดโทษ บ.ต่างชาติ ผิดอาญา ถึงขั้นเนรเทศ
ประธานคณะที่ปรึกษาของรมว.อุตสาหกรรม บอกด้วยว่า ในการรวบรวมหลักฐานทั้งหมดจะทำให้ชัดเจนตรวจอะไรบ้าง พบปัญหาอย่างไร เราเคยเตือนโรงงานนี้ไปแล้วกี่ครั้ง เพื่อให้ดีเอสไอไปใช้ในคดีอาญาด้วย เพื่อจะได้ประเมินสาเหตุตึกถล่มว่าเป็นเพราะแบบ การก่อสร้าง หรือวัสดุไม่ได้มาตรฐาน ”ระหว่างการตรวจเราพบว่าฝุ่นแดงที่เกิดจากการหลอมเหล็กมีจำนวนเกินกว่าที่แจ้งการผลิต แสดงว่าอาจมีการผลิตเหล็กเกินกว่าที่แจ้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง ๆ ก็จะนำไปสู่การปิดโรงงานแบบถาวร และดำเนินคดีอาญาด้วย ซึ่งกรณีชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทย หากมีคดีอาญาต่อให้โทษเล็กน้อย รอลงอาญา ก็เป็นเงื่อนไขต่อการเนรเทศด้วย เราตรวจเต็มที่แน่นอน“
จ่อทบทวนเลิกเตาหลอม IF
ส่วนกรณีการใช้เตาหลอม IF (Induction Furnace )ซึ่งจีนเลิกใช้ถาวรมาตั้งแต่ปี 2560 จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์หรือไม่นั้น ดร.อรรถวิชช์ บอกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่พวกเราจะเข้ามาดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาธุรกิจไทยส่วนใหญ่ใช้เตา EF (Electric Arc Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่า ทำให้เหล็กที่ผลิตโดยเตาหลอม IF มีราคาถูกกว่าราว 5-10 % “ตอนนี้ก็มีการถามสมาคมเหล็กว่าควรยกเลิกเตาหลอม IF หรือไม่ จะเปลี่ยนเป็น EF ทั้งระบบหรือเปล่า หากไม่เอา IF แล้วก็ยังมีโรงงานที่ใช้อยู่ทั้งไทยและต่างประเทศ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย”