การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ คำถามที่หลายคนสงสัยคือ อะไรคือเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ และนี่คือ “เกมพลาด” ทางการเมืองของยุนหรือไม่?
ไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญ
◾ 3 ธันวาคม 2567 (ค่ำ) : ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศผ่านทางโทรทัศน์ โดยกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านหลักว่าสนับสนุนเกาหลีเหนือและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
◾ 3 ธันวาคม 2567 (หลังประกาศ) : กองทัพออกกฤษฎีกาห้ามกิจกรรมทางการเมือง, การชุมนุม, การประท้วง, และควบคุมสื่อมวลชน
◾ 4 ธันวาคม 2567 (เช้ามืด) : สมาชิกรัฐสภาเร่งประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์
◾ 4 ธันวาคม 2567 (เช้า) : รัฐสภามีมติคว่ำกฎอัยการศึกด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 1
◾ 4 ธันวาคม 2567 (เช้ามืด) : ประธานาธิบดียุนประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกหลังรัฐสภาคว่ำมติ
เบื้องลึกการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้เกิดจาก “ยุน” เสียเปรียบในสภา เพราะหลังการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ยุน กลายเป็น “ประธานาธิบดีเป็ดง่อย” ไม่สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ อีกทั้ง”ยุน” และภรรยาตกเป็นเป้า เผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ถูกพรรคฝ่ายค้านเดินหน้าสอบสวนอย่างเข้มข้น รัฐบาลของ “ยุน” ยังถูกฝ่ายค้านตัดงบประมาณ และพยายามถอดถอนสมาชิกคณะรัฐมนตรี
การประกาศกฎอัยการศึก จึงอาจเป็น “เกม” ที่ยุนต้องการใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ สกัดกั้นการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน และรักษาอำนาจของตนเองไว้ หรือจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื้อฉาวของตนเองและภรรยา ควบคู่ไปกับการกดดันฝ่ายค้านให้ฝ่ายค้านยอมเจรจา และยอมผ่อนปรนในประเด็นต่าง ๆ แต่ “เกม” นี้ อาจเป็น “เกมพลาด” ของยุน เพราะการประกาศกฎอัยการศึกยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียด เกิดการประท้วง และความแตกแยกในสังคมเกาหลีใต้รุนแรงมากขึ้น กลายเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจเผด็จการ ทำลายระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายจบลงที่ถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองเพราะแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนยังออกมาต่อต้าน อีกทั้งการประกาศกฎอัยการศึกถูกคว่ำโดยสภาฯ ทำให้ยุนยิ่งตกอยู่ในสถานะลำบาก
จากความพยายาม “แก้เกม” ทางการเมือง แต่กลับกลายเป็น “เกมพลาด” ที่ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อนาคตทางการเมืองของเขาเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
เป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนของนักการเมืองที่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเพื่อรักษาอำนาจ แต่สุดท้ายอาจจบลงที่การ “สิ้นอำนาจ” และถูกจดจำในฐานผู้ทำลายประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
https://thepublisherth.com/