เป็นคำถามจากการให้สัมภาษณ์พิเศษกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร สำนักข่าว The Publisher ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการอนุมัติสร้างตึก สตง.ของคณะผู้บริหาร สตง.ชุดปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงผู้ที่คว่ำหวอดในวงตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ประชาชนแบบเราๆ ท่านๆ ก็สงสัยด้วยเช่นกัน
ดร.ณฐพร : ทำไมสร้างตึก 32 ชั้น อุปกรณ์แพงๆ และผู้อนุมัติไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะหมดวาระก่อน เหมือนกับสร้างบ้านให้คนในอนาคตอยู่ สร้างแพง หรูหรา แบบนี้มีเงินทอนหรือไม่ เพราะมีคำกล่าวว่างบประมาณสูงมากเท่าไหร่ เงินทอนสูงมากเท่านั้น อย่างห้องคุมวินัยไม่มีที่ไหน แม้กระทั่งศาลจะหรูหราแบบนี้ หรือห้องรับรองหรู ทั้งที่ สตง.ไม่ต้องรับรองแขกต่างประเทศ ทำไมต้องใช้งบประมาณมากขนาดนั้น
จึงมองได้ว่าการกำหนดให้สร้างตึก 32 ชั้นงบเป็นพันๆ ล้าน อาจมีเงินทอนเกิดขึ้น มีข่าวมาแล้วว่าบริษัทจีนสามารถขนเงินมาได้เลย เพราะการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่จ่ายเงินล่วงหน้า มีค่าล่วงหน้า 1% 200 ล้านบาท บริษัทไทยไม่มีเงินจ่าย มีแต่บริษัทจีนนี่แหละ เขามีเงินนำเข้ามาไม่ต้องแสดงหลักฐานทางการเงิน เห็นได้ชัดว่าบริษัทนี้เพิ่งจดทะเบียนปี 2562 ทุนจดทะเบียนหลักร้อยล้านบาท แต่สามารถรับงานได้ปีละเป็นหมื่นๆ ล้าน และไปร่วมค้ากับหลายๆ บริษัท แบบนี้ไม่สงสัยบ้างเลยหรือ คุณสมบัติเช่นนี้ พฤติการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นว่ามีลักษณะการกระทำคือทุจริตประพฤติมิชอบ และผู้อนุมัติและผู้ที่รับผิดชอบมากที่สุดคือ คณะกรรมการ คตง.
การสร้างตึก 32 ชั้นต้องให้กรมโยธาธิการออกแบบ ไม่ใช่ให้ สตง.ไปจ้างคนออกแบบเอง และกรมบัญชีกลางต้องเข้าตรวจสอบ ว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่สร้างตึกขณะนี้
The Publisher: มีเรื่องทุจริตเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่
ดร.ณฐพร : ส่อทุจริตล้านเปอร์เซ็นต์ ทำไมต้องใช้งบ 2 พันกว่าล้าน คนที่อนุมัติไม่ได้ใช้ตึกนี้ และคนที่เป็นประธานคนต่อไปจะอยากใช้เก้าอี้ตัวละ 9 หมื่นบาทเหรอ และกรรมการ คตง.มี 7 คนใช้คนละชั้น? มีห้องอาบน้ำ มีฝักบัวทำไม มาทำงาน ไม่ใช่มาพักผ่อน นี่ไม่ใช่โรงแรมนะ และ สตง.เน้นคุณภาพคนทำงานมากกว่า ทำไมไม่เอาเงินสร้างตึกแพง ๆ ไปพัฒนางานตรวจให้ดีขึ้น สร้างบุคคลากรให้มีประสิทธิภาพ และคนทำงาน 2 พันคน ไม่ได้อยู่ที่นี่ทั้งหมด เพราะต้องลงพื้นที่ อยู่ที่ตึกไม่เกิน 500 คนจะสร้างตึกใหญ่โตมโหฬารไปทำไม
The Publisher: ผิดหัวผิดหางตั้งแต่กำหนดขนาดของตึกที่ใหญ่เกินไป?
ดร.ณฐพร : ถูกต้อง เราอยู่ในฐานะที่ปรึกษาผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ก็เห็นภาพ นั่งคิดว่าทำไมต้องตึก 32 ชั้น 2 พันล้าน ตึกจริงๆ สูงสุด 10 ชั้นหรูหราแล้ว ทำไมต้อง 32 ชั้น เพราะงบประมาณมากเท่าไหร่ เงินทอนสูงเท่านั้นใช่หรือไม่ และผู้ว่า สตง.ที่อนุมัติไม่ออกมารับผิดชอบแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียอีกด้วย
The Publisher: ผู้ว่า สตง.ออกมาให้กำลังใจคนของสำนักงาน
ดร.ณฐพร : อันนี้เป็นวิสัยทัศน์ของผู้ว่าคนใหม่ ไม่ได้มีจิตใจคำนึงคนเสียหายเดือดร้อน คำนึงถึงแต่คนของตัวเอง ตามหลักต้องทำหนังสือแสดงความเสียใจกับผู้ประสบภัย และขอโทษประชาชนทั้งประเทศ และบอกจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร จะช่วยเหลือคนอยู่ใต้ตึกอย่างไร ไม่ใช่แสดงความเสียใจกับเจ้าหน้าที่ตัวเอง
The Publisher: ตอนนี้เราต้องโฟกัสการตรวจสอบไปที่ สตง.หลังจาก สตง.ตรวจสอบคนอื่น
ดร.ณฐพร :ใช่ ถ้าทุกฝ่ายใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่างกรมบัญชีกลางมีหน้าที่ตรวจ สตง.ที่เป็นองค์กรอิสระ แต่กรมบัญชีกลางก็ไม่กล้าไปตรวจสอบ สตง. การออกแบบก็ต้องให้กรมโยธาธิการออกแบบ มันมีระเบียบบังคับใช้ ซั่งถ้าใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่เกิดปัญหา แต่ปรากฎว่า ไม่มีการตรวจสอบแม้แต่คนคุมงานที่ต้องลงพื้นที่ว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ได้ตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์อย่างไร
ดังนั้น หน่วยงานที่ตรวจสอบกรณีตึก สตง.ต้องดูให้ละเอียด มีขั้นตอนไหนทุจริต ประพฤติมิชอบ มีขั้นตอนไหนบกพร่อง ละเลยต้องเอาผิดให้หมด ไม่ใช่ไล่แต่เหล็ก ต้องไล่ตั้งแต่กระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งตรวจละเอียด ยิ่งเจอมูลเหตุการทุจริต #ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #ตึกถล่ม #ตึกสตงถล่ม #แผ่นดินไหว #ทุจริตคอร์รัปชัน