เมื่อเกมใหญ่ไม่อยู่ใน JBC: ไทย–กัมพูชา ใครเดินเกม ใครวิ่งตาม
บทความวิเคราะห์โดย The Publisher
การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ระหว่างไทย–กัมพูชา ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ณ กรุงพนมเปญ ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นความหวังในการคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนช่องบก จ.อุบลราชธานี ที่เกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป ทั้งจากแถลงการณ์ล่าสุดของรัฐบาลกัมพูชา และท่าทีของ รมว.กลาโหมไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย จะเห็นได้ชัดว่า JBC ครั้งนี้อาจเป็นเพียง “เวทีรอง” ในเกมใหญ่ที่กัมพูชาวางหมากไว้ล่วงหน้าแล้ว — และไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ ต้องวิ่งไล่ตาม มากกว่าเป็นผู้ตั้งเกมเอง
⸻
กัมพูชา: ใช้ช่องบกเปิดเกม ลาก “หมากใหญ่” เข้าศาลโลก
แถลงการณ์ของรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มีหลายชั้นความหมาย — ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การทูต และการวางหมากทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ
ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ ได้แก่:
• กล่าวหาทหารไทยเปิดฉากยิง ใส่กองกำลังของกัมพูชาในพื้นที่ “เตโชมรกต” ซึ่งกัมพูชาระบุว่าเป็นเขตที่ปักหลักมาอย่างยาวนาน
• ประกาศยื่นข้อพิพาท 4 จุดใหญ่ต่อศาลโลก (ICJ) ได้แก่ ปราสาทมุมตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (ช่องบก)
• ย้ำว่า จะไม่นำพื้นที่เหล่านี้เข้าสู่วาระ JBC
• เปิดทางให้ไทย “ร่วมยื่น” ต่อ ICJ โดยใช้ถ้อยคำเชิงสันติและมิตรภาพ แต่ก็ประกาศว่า จะดำเนินการฝ่ายเดียวหากไทยไม่ร่วมมือ
กล่าวให้ชัดคือ เหตุปะทะที่ช่องบก คือการจุดชนวน
แต่ เป้าหมายที่แท้จริง คือ ลากพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ 4 แห่งสู่ศาลโลก
⸻
ไทย: รับแรงกดดัน–เดินเกมวันต่อวัน
ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาใช้เวลาสั้น ๆ วางกลไกระดับรัฐสภา พร้อมแถลงการณ์กลางและประกาศท่าทีระดับนานาชาติ — ท่าทีของฝ่ายไทยดูเหมือนยังอยู่ใน “โหมดตอบสนองรายวัน”
รมว.กลาโหมไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย แถลงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ระบุว่า:
• ยอมรับว่ามี “การรุกล้ำ” เข้าพื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิราว 200 เมตร แต่ย้ำว่าเป็น “โนแมนส์แลนด์” ไม่ใช่เขตแดนไทยโดยตรง
• ยืนยันการใช้กลไก JBC แก้ปัญหา โดยเตรียมหลักฐานยื่นประท้วงว่ากัมพูชาทำผิดข้อตกลง
• หาก JBC ล้มเหลว จะพิจารณา มาตรการตอบโต้ เช่น “ปิดด่าน”
• แต่เน้นว่า “การเจรจาไม่ได้แปลว่ายอมศิโรราบ”
แม้คำพูดจะดูขึงขังขึ้นกว่าช่วงแรก แต่เมื่อเทียบกับจังหวะการเดินเกมของกัมพูชา — ไทยยังขาดการตอบสนองเชิงยุทธศาสตร์
• ไม่มีแถลงการณ์กลางระดับรัฐบาล เพื่อตอบโต้แถลงการณ์ล่าสุดของกัมพูชา มีเพียงคำสัมภาษณ์ของรมว.กลาโหม ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึงเกมล่าสุดของกัมพูชาแต่อย่างใด
• ยังไม่มีการสื่อสารเชิงรุกต่อประชาคมโลก
• ยังไม่ประกาศแนวทางรับมือกับการฟ้องศาลโลกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปฏิเสธให้ชัดไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก
• และ ยังไม่มีภาพของการตั้งเกมในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อแสวงหาพันธมิตรเหมือนที่กัมพูชากำลังทำ
⸻
สาระสำคัญที่ต้องจับตา: JBC คือเวทีลวง?
การแยกพื้นที่พิพาทหลักออกจากวาระ JBC — กัมพูชากำลังลดน้ำหนักของเวทีนี้ให้กลายเป็นเพียง “ฉากหน้าทางการทูต” เพื่อแสดงว่าตนยังรักษากรอบทวิภาคี แต่เดินหมากฟ้องศาลโลกแล้วอย่างสมบูรณ์
ในขณะที่ไทยยังตั้งความหวังกับเวที JBC อยู่ — โดยไม่แสดงแนวรุกใด ๆ ต่อ ICJ หรือสร้างฐานสนับสนุนในเวทีนานาชาติ
นี่อาจทำให้ไทย ไม่มีทั้งอาวุธเชิงกฎหมายและอาวุธเชิงสื่อสาร ไปสู้บนสนามหลักที่กัมพูชาลากไป
⸻
ถามตรง ๆ ไทยจะได้อะไรจาก JBC
รมว.กลาโหมพูดถึง “การปิดด่าน” หากเจรจาไม่สำเร็จ ซึ่งแม้อาจสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเสี่ยง
• ไทยอาจถูกกล่าวหาว่าใช้มาตรการกดดันฝ่ายเดียว
• ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกอาจเสียเปรียบ โดยเฉพาะหากไม่ได้ชี้แจงแนวทางสันติที่ชัดเจนไปพร้อมกัน
คำถามใหญ่ไปกว่านั้นคือ “เวที JBC ยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่ ในเมื่อมันไม่สามารถแก้ข้อพิพาทได้จริง? เพราะกัมพูชาประกาศชัดไม่เอาสี่พื้นที่สู่โต๊ะเจรจา”
คำตอบคือเวทีนี้อาจยังจำเป็น เพราะถ้าใครเป็นฝ่ายถอนตัวออกก่อน นั่นคือสัญลักษณ์ที่จะถูกมองว่าไม่พยายามหาแนวทางสันติวิธีร่วมกัน
JBC จึงอาจยังมี “คุณค่าเชิงยุทธศาสตร์” แต่ต้องใช้เป็นเครื่องมือเชิงรุก อย่าถูกย้อนศรจนตอกย้ำความอ่อนแอ รัฐบาลจึงต้องเท่าทัน ไม่ใช่ทำได้แค่เดินตามก้นกัมพูชา และที่สำคัญอย่าไปตกหลุมพรางสร้างความชอบธรรมให้กัมพูชาเล่นเกมที่ใหญ่กว่า
⸻
ถ้าไม่ตั้งเกม เราอาจตกเป็นเพียงผู้เล่นในเกมของเขา
ทางออกในเวที JBC รัฐบาลควรเปิดโปงการละเมิดข้อตกลงของกัมพูชา ชิงพื้นที่การสื่อสารและการทูตกลับคืน เตรียมเอกสาร ข้อมูล หลักฐาน ไปแสดงต่อทั้ง JBC และประชาคมโลก
แม้เกมหลักกัมพูชาไม่ได้อยู่ที่ JBC แต่เราต้องใช้เวทีนี้ “กระชากหน้ากาก” กัมพูชาออกมาให้ได้
หากไม่รีบขยับจากโหมด “แก้ปัญหารายวัน-ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า” ไปสู่ “ยุทธศาสตร์ระยะยาว” ไทยไม่เพียงเสี่ยงเสียพื้นที่ แต่ยังเสียศรัทธา ความชอบธรรม และความเชื่อมั่นของประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วย
และเมื่อถึงจุดนั้น ไม่ใช่แค่พรมแดนที่สั่นคลอน แต่อำนาจรัฐบาลก็อาจไม่มั่นคงอีกต่อไป
#ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #เที่ยงเปรี้ยงปร้าง #รัฐบาลแพทองธาร #รัฐบาล #ครม #ชายแดน #ทหารไทย #ไทยกัมพูชา #รัฐบาล #JBC #ICJ #ชายแดนไทยกัมพูชา #ThePublisherวิเคราะห์ #เกมใหญ่ที่ไทยต้องตั้ง