วันที่ 8 เมษายน 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ฟ้องกรรมการ กสทช. 4 ราย ประกอบด้วย
พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย
รศ.ดร. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
และ ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต
ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีมีมติปลดเขาออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช.
ดูเผิน ๆ อาจคิดว่าเป็นความขัดแย้งภายในระหว่าง รักษาการเลขาฯ กับ 4 กรรมการกสทช.เสียงข้างมาก แต่คดีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องบุคคล มันกำลังฉายภาพโครงสร้างองค์กรที่พังจากภายใน และระบบที่ออกแบบให้ “ไม่มีใครสอบใครได้จริง”
⸻
เมื่อเสียงข้างมากพยายามสอบปัญหา… แต่ระบบไม่อนุญาตให้สอบ
ต้นเรื่องเริ่มจากการอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส.
เพื่อให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022
โดยมีข้อตกลงใน MOU ว่า ผู้รับใบอนุญาตทุกประเภทต้องได้รับสิทธิเท่าเทียม
แต่ภายหลัง กกท. กลับไปทำ MOU แยกกับกลุ่มทรู โดยให้สิทธิพิเศษเฉพาะบางแพลตฟอร์ม นำไปสู่ เหตุการณ์ “จอดำ” ทั่วประเทศ และการตั้งคำถามเรื่องความไม่เท่าเทียมทางการออกอากาศ
ในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุชัดว่า
การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ และมติบอร์ด และ ชื่อของนายไตรรัตน์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการเลขาฯ ปรากฏอยู่ในกระบวนการรับรู้และอนุมัติ
กรรมการ กสทช. 4 คน จึงมีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย
แต่กลับพบว่าตามระเบียบ กสทช. ผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบสวนคือ “เลขาธิการ กสทช.” ซึ่งในขณะนั้นก็คือ… นายไตรรัตน์ ที่นั่งรักษาการฯ อยู่ และประธานบอร์ด กสทช. ไม่ลงนาม กลายเป็นประเด็นที่ใช้โต้แย้งและนำไปสู่การฟ้องคดีว่า 4 กสทช.ใช้อำนาจมิชอบกลั่นแกล้ง
แต่ถามว่าถ้าระเบียบเป็นแบบนี้แล้วใครจะสอบรักษาการเลขาฯ ได้ ยิ่งถ้าประธาน กสทช.กับเลขาฯ เป็นคอหอยกับลูกกระเดือก กลไกการตรวจสอบภายในของสำนักงาน กสทช. จะเดินหน้าได้อย่างไร?
⸻
“กับดักระเบียบ” ที่ออกแบบให้คนที่ต้องถูกสอบ มีอำนาจหยุดการสอบ
การสอบสวนไม่อาจเกิดขึ้นได้
เพราะ ไม่มีใครมีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนรองเลขาฯ ได้ นอกจากเลขาฯ เอง
และเลขาฯ คนนั้น… ก็คือตัวผู้ถูกกล่าวหา
กรรมการเสียงข้างมากจึงมีมติ ถอดไตรรัตน์จากการรักษาการ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน
เพื่อจะได้ใช้อำนาจในตำแหน่งนั้น สั่งสอบไตรรัตน์ได้ตามระเบียบ
แต่นั่นกลับเป็นศรย้อนกลับที่ทำให้ 4 กสทช. ถูก “ไตรรัตน์” ฟ้องคดี
ถามว่า…คนที่พยายามทำความจริงให้กระจ่าง
เปิดทางให้กระบวนการตรวจสอบเดินหน้าได้
กลายเป็นจำเลยในคดีที่ “คนที่ส่อว่าอาจทำผิด” แปลงร่างมาเป็น“โจทก์”
กฎหมายควรเป็นเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมประเด็นนี้อย่างไร?
⸻
ระบบที่ออกแบบให้ “การสอบสวน” เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
แม้จะมีการย้ำว่า การแต่งตั้งคนใหม่คือการยึดตามลำดับอาวุโส
แต่ “ไตรรัตน์” ระบุในคำฟ้องว่า “กรรมการเสียงข้างมากมีเจตนากลั่นแกล้ง” และภายในองค์กร ก็เกิดความโกลาหลซ้ำซ้อน
• มติปลดมี แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงนามจากประธาน กสทช.
• รักษาการที่ถูกปลด ยังลงนามแต่งตั้ง “นิติกร” ขึ้นรักษาการต่อ
• มีการโยกย้ายภายใน–การยกเลิกสอบวินัยตัวเอง–การใช้มติสวนกระแส ยังคงเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาปัจเจก
แต่มันสะท้อนว่าองค์กรนี้ ไม่มีระบบรับมือภาวะความขัดแย้งของอำนาจ
และไม่สามารถทำให้การตรวจสอบเกิดขึ้นได้จริง
เพราะระเบียบที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมเพียงพอในการตรวจสอบการใช้อำนาจภายในองค์กร
⸻
“ทรู” อยู่ตรงไหนในสมการนี้?
การที่กลุ่มทรูได้สิทธิ์ถ่ายทอดเกินกว่า MOU เดิม
การที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องจอดำ
การที่มีคำถามจากนักวิชาการต่อ “เงินภาษีที่ควรเพื่อคนทั้งประเทศ กลับไปอยู่ในมือทุนใหญ่”
และการที่ กรรมการ กสทช. ที่มีมติไม่เป็นผลดีกับทรู มักกลายเป็นผู้ถูกฟ้อง
ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหรือไม่?
มีใครอธิบายได้ไหมว่า “นี่คือความบังเอิญ หรือความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออก?”
⸻
“ศาลอาจตัดสิน 4 กสทช.ว่า “ผิด” หรือ “ไม่ผิด”
เป็นอำนาจศาลฯ ที่มิอาจก้าวล่วง
สิ่งที่ชวนสังคมคิดคือ…มองให้ลึกกว่าประเด็นแห่งคดี
เพราะเมื่อเอ็กซเรย์ลงไปจะพบว่า…
องค์กรนี้ล้มเหลวในเชิงระบบอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เราจะปล่อยให้องค์กรอิสระใช้ระเบียบที่ทำให้ไม่มีใครสอบใครได้ ไปจนถึงเมื่อไหร่?
เราจะให้อำนาจอยู่ในมือคนที่ควรอยู่ใต้การสอบสวนได้อีกนานแค่ไหน?
และสุดท้ายเราแน่ใจแค่ไหนว่าเงินของประชาชน ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ
ที่สำคัญคือ…สังคมลืมไปแล้วหรือว่า เคยมีเสียงตะโกนให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสจากเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022
มาถึงวันนี้…ไม่เพียงการตรวจสอบเกิดขึ้นไม่ได้
คนที่อยู่ในข่ายต้องถูกตรวจสอบ ยังคงมีอำนาจในตำแหน่งเดิม
เพิ่มเติมคือกลายเป็นโจทก์ ฟ้องคดีคนที่พยายามหาความจริงจากข้อครหาที่เกิดขึ้นด้วย
นี่มันเป็นระบบแบบใด…สังคมแบบใด…
และใช่ระบบ…สังคม…ที่เราอยากเห็นจริง ๆ หรือ?