หลัง “ทักษิณ ชินวัตร“ ปราศรัยที่จ.มหาสารคามเมื่อวันที่ 20 ม.ค.68 ระบุว่า ”…มีคนบอกว่าผมโกง โกงพ่อมึงสิ ผมเข้ามาการเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นประกาศทรัพย์สิน ทั้งที่ ป.ป.ช.ไม่บังคับ ผมประกาศมีทรัพย์สินกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะทำธุรกิจมา สร้างเนื้อสร้างตัวมา วันนี้โดนยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ยังไม่ร้องสักคำเลย คำก็โกง สองคำก็โกง ก็มึงตั้งคณะกรรมการเฮงซวยมาสอบกู…“
“คกก.เฮงซวย” ที่ ”ทักษิณ“ พูดถึงน่าจะหมายถึง คณธกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งถือเป็นฐานการตรวจสอบที่นำไปสู่คดีความของทักษิณทั้ง 4 คดีที่เขาถูกศาลฯ สั่งจำคุก ทั้งที่ดินรัชดา 2 ปี (หนีจนคดีขาดอายุความ) หวยบนดิน 2 ปี ปล่อยกู้เมียนมา 3 ปี และ แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อชินคอร์ปอีก 5 ปี โดยทุกคดีอัยการเป็นผู้ส่งฟ้อง นั่นหมายถึงว่ายังมีอัยการกลั่นกรองสำนวนจาก คตส.อีกชั้นหนึ่ง บางคดีที่เห็นไม่ตรงกัน คตส.ก็ส่งฟ้องเอง เพราะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. เช่น คดีหวยบนดิน
มากไปกว่านั้นคือทุกคดีผ่านการพิจารณาตัดสินจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง “ทักษิณ” ได้ใช้สิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการกล่าวหา ไม่ยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ซึ่งศาลฎีกาฯ ตีตกทั้งหมด เป็นการตอกย้ำว่า คตส. ทำงานภายใต้การรองรับของกฎหมาย แม้จะออกโดยประกาศ คปค.ฯ แต่กระบวนการยุติธรรมล้วนเดินหน้าตามครรลองมีอัยการตรวจสอบสำนวน และตัดสินโดยศาลฎีกาฯ ซึ่ง 4 คดีที่คตส.ยื่นฟ้อง มีหนึ่งคดีที่ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง คือ การจัดซื้อพันธุ์กล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร ส่วนคดีอื่น ๆ ที่ คตส.ดำเนินการจนหมดอายุการทำงานก็ส่งต่อไปให้ ป.ป.ช.เดินหน้าต่อ เมื่อไปถึงศาลฎีกาฯ ก็ถูกตัดสินลงโทษ เช่น คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ศาลฯ สั่งจำคุก วัฒนา เมืองสุข 99 ปี ปัจจุบันยังอยู่ในเรือนจำ
ย้อนข้อมูลให้เห็นภาพ เพราะเรื่องราวผ่านไปนานเกือบ 20 ปี อาจมีคนจำนวนมากที่ลืมรายละเอียดเหล่านี้ไป ทบทวนความทรงจำแล้วคิดว่า “คกก.เฮงซวย” หรือ “คนโกงเฮงซวย”
บทความโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร