หลังมีความพยายามจาก สส.เพื่อไทย นำโดยนายประยุทธ ศิริพานิช เสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มีเนื้อหาสาระเปลี่ยนแแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจของกองทัพ เปิดช่องให้การเมืองเข้าไปล้วงลูกแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ไปจนถึงการสกัดรัฐประหาร ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกระทำการมิชอบ อาทิ การยึดอำนาจจากรัฐบาล ก่อกบฏ
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองเกิดข้อถกเถียงออกเป็นสองมุม มุมหนึ่งเห็นว่าควรมีกฎหมายแบบนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร อีกมุมบอกไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อรัฐประหารสำเร็จก็ฉีกรัฐธรรมนูญ มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ คลอดรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงคำสั่งของคณะรัฐประหารก็ถือเป็นกฎหมาย ดีที่สุดจึงควรขจัดเงื่อนไขจากฝ่ายการเมือง ไม่ให้เกิดข้ออ้างในการทำรัฐประหารได้
หากเราย้อนดูการทำรัฐประหารในปี 2534,2549 และ 2557 จะเห็นได้ว่ามีจุดร่วมสำคัญคือ การทุจริตของนักการเมือง ดังข้อมูลด้านล่าง
พ.ศ. 2534
🟥 เงื่อนไข:
◾ ความขัดแย้งภายในกองทัพ มีการแบ่งเป็นสายทหารบูรพาพยัคฆ์และสายทหารม้า
◾ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กับกองทัพ เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง
◾ ข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันของรัฐบาล “บุฟเฟต์คาบิเนต”
🟥 ข้ออ้าง: คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อ้างว่ารัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
🟥 ผลลัพธ์: รสช. ยึดอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พ.ศ. 2549
🟥 เงื่อนไข:
◾ ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
◾ ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และการแทรกแซงสื่อมวลชนของรัฐบาล
◾ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์
🟥 ข้ออ้าง: คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อ้างว่ารัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์
🟥 ผลลัพธ์: คปค. ยึดอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พ.ศ. 2557
🟥 เงื่อนไข:
◾ ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกลุ่ม กปปส.
◾ ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว, พยายามออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยช่วยทักษิณ
◾ เกิดวิกฤตการเมืองจนรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้
◾ รัฐบาลในขณะนั้นไม่ยอมลาออก นำไปสู่การยึดอำนาจ
🟥 ข้ออ้าง: คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างว่าเกิดความวุ่นวายทางการเมือง มีการใช้ความรุนแรง และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
🟥 ผลลัพธ์: คสช. ยึดอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สรุป
การรัฐประหารทั้ง 3 ครั้ง มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน เช่น เกิดขึ้นในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล และกองทัพอ้างความจำเป็นในการเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเมื่อรัฐประหารสำเร็จก็ตามมาด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในการบริหารประเทศ