ตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดแบงก์ชาติ) ยังไม่มีข้อสรุป หลังจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่ง ต้องชวดไปเพราะ คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย ทำให้กระทรวงการคลังต้องเร่งหาตัวเลือกใหม่
ปมปัญหาหลักที่ทำให้นายกิตติรัตน์ไปต่อไม่ได้ เป็นเพราะ เคยดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และตามกฎหมาย คนที่เคยมีบทบาททางการเมืองต้องเว้นวรรค อย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้ารับตำแหน่งในแบงก์ชาติ แต่กรณีของนายกิตติรัตน์นั้น เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษานายกฯ และประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งมีอำนาจในการอำนวยการบริหารประเทศ ถือเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” และพ้นตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้าม ทำให้เขาวืดเก้าอี้ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติไป
ทักษิณบอก อีก 2 วันรู้เรื่อง
ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นคนใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปอวยพรวันเกิด นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.68 ว่าเขาได้พูดคุยกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคาดว่า ภายใน 2 วัน จะมีคำตอบว่าใครจะนั่งเก้าอี้นี้ นั่นหมายถึงว่าไม่เกินวันอังคารนี้ทุกอย่างน่าจะมีความชัดเจน
“เรื่องนี้เป็นกระบวนการของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ที่ต้องเสนอและให้คณะกรรมการสรรหาเลือก ผมเองก็ไม่ทราบว่าเขาจะเสนอใคร” นายทักษิณกล่าว
การเมืองกับตำแหน่งอิสระ
ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นหนึ่งในเก้าอี้ที่มักมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง เพราะมีผลต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การบริหารนโยบายการเงิน และการกำกับดูแลระบบธนาคารของประเทศ แม้โดยหลักแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเป็นองค์กรอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง แต่ในอดีตก็เคยมีความพยายามผลักดันคนใกล้ชิดรัฐบาลเข้ามาดำรงตำแหน่ง
กรณีของนายกิตติรัตน์เอง ถูกจับตาว่ารัฐบาลอาจพยายามดันบุคคลที่มีความใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งกฤษฎีกาก็ได้ตีกรอบชัดเจนว่า ไม่สามารถทำได้ ตามกฎหมาย
แล้วใครจะมา?
มีรายงานว่ากระทรวงการคลังจะเสนอชื่อ “สมชัย สัจจพงษ์” แทน “กิตติรัตน์” ตามการเสนอของทีมที่ปรึกษานายกฯ บ้านพิษณุโลก โดย “สมชัย” ถือเป็นลูกหม้อกระทรวงการคลัง เคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ในยุคแรก ๆ ของรัฐบาล คสช. และยังมีสัมพันธ์ที่ดีกับทีมที่ปรึกษานายกฯ บ้านพิษณุโลกด้วย ส่วนแบงก์ชาติที่มีโควตาเสนอชื่อได้ 2 คน มีรายงานว่าจะเสนอเพียงชื่อเดียวคือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ และในครั้งนั้นเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากคกก.คัดเลือกเพียง 1 เสียงเท่านั้น
สิ่งที่ต้องจับตาคือคนที่จะได้รับเลือก จะเป็นคนที่มีความเป็นอิสระตามหลักการของแบงก์ชาติจริง หรือจะยังมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง
ภายใน 2 วันนี้น่าจะมีคำตอบ… แล้วต้องดูด้วยว่าคำตอบนั้นจะพาไปสู่ความไว้วางใจ หรือข้อถกเถียงรอบใหม่กันแน่