ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ออกโรงเตือนภัยสังคม หลังร่างแรก พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับกฤษฎีกา หรือกฎหมายเปิดทางให้กาสิโนถูกเผยแพร่ออกมา ชี้ชัดว่านี่คือ “ซูเปอร์ พ.ร.บ.” ที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลและนายทุนเหนือกฎหมายอื่น ๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเปิดกาสิโนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
“เหล้าเก่าในขวดทึบ” ปรับถ้อยคำแต่เป้าหมายเดิม
ธนากร ระบุว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะถูกปรับแต่งจากฉบับก่อนหน้า แต่เนื้อหาหลักยังคงเดิม นั่นคือ เปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้หลายที่ หลายขนาด และกาสิโนยังเป็นหัวใจหลัก โดยกำหนดให้ต้องมี “4 กิจการร่วมกับกาสิโน” นอกจากนี้อำนาจสูงสุดยังอยู่ที่คณะกรรมการนโยบาย (ซูเปอร์บอร์ด) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน มีสิทธิ์กำหนดทุกอย่าง ตั้งแต่ที่ตั้ง อัตราภาษี ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงการออกใบอนุญาตให้เอกชนผูกขาดธุรกิจได้ยาวถึง 30 ปี
“ประเด็นหนึ่งที่เคยถูกวิจารณ์ว่า รายได้จากบรรดาค่าธรรมเนียมหลายพันล้านจากการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่ไม่เขียนผูกมัดให้ต้องส่งเข้าแผ่นดิน มาตรานี้ถูกตัดหายไป แต่สาระสำคัญยังคงอยู่ ด้วยวิธีเขียนที่ฉีกประเด็นและการใช้ถ้อยคำที่ต่างไปจากเดิม แต่ก็ยังคงความหมายที่ต้องการคือ “ให้นำเงินหลักพันล้านนี้ไปใช้ได้ตามอำเภอใจ เหลือเท่าไรค่อยส่งเข้าแผ่นดิน”
“ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาล เปิดช่องทุนใหญ่ฟาดเรียบ
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เปิดช่องให้รัฐบาลใช้อำนาจเต็มที่ โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่กำหนดให้ หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี มาตรา 12 ที่เปิดทางให้ แก้หรือออกกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กาสิโน หากพบว่ากฎหมายอื่นเป็นอุปสรรค
“พ.ร.บ.จอมยกเว้น” ใหญ่กว่ากฎหมายอื่น ล้างบางกฎระเบียบ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็น “พ.ร.บ.จอมยกเว้น” เพราะมีการเว้นบังคับใช้กฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น
- เว้นประมวลกฎหมายแพ่ง อนุญาตให้เช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี
- เว้นกฎหมายราชพัสดุ เปิดทางให้เช่าที่ราชพัสดุเพื่อทำกาสิโนได้
- เว้นกฎหมายการพนัน อนุญาตให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดประเภทการพนันเพิ่มเติมเองได้
- เว้นคำสั่ง คสช. 22/2558 ซึ่งเดิมควบคุมสถานบันเทิง ลดเวลาเปิด-ปิด และการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ผลประโยชน์ทับซ้อน?” เปิดทางนักการเมือง-ผู้บริหารกาสิโนคุมกฎหมาย
อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ การกำหนด คุณสมบัติของผู้บริหารสำนักงานกำกับกาสิโน โดยระบุว่า สามารถเป็นอดีตนักการเมือง หรือผู้บริหารธุรกิจกาสิโนได้ หากพ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี “ใครว่าไม่แปลกผมว่าแปลก ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับกิจการกาสิโน แต่กลับให้มีสายสัมพันธ์กับกาสิโนหรือการเมืองได้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนาจะให้อำนาจพิเศษเหนือกฎหมายอื่น เพื่อเอื้ออำนวยให้กิจการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “เกิดได้ เกิดง่าย เกิดเร็ว และเอื้อประโยชน์อย่างสุด ๆ แก่ผู้ประกอบการ”
“ซูเปอร์ พ.ร.บ.” ที่ทำให้กาสิโนเกิดง่าย เร็ว และโตสุดขีด
ธนากรสรุปว่า กฎหมายฉบับนี้คือ การเอาแต่ได้ของทุนใหญ่ โดยแทบไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสังคมเลย นอกจากการ ปูทางให้กาสิโนเปิดได้ง่าย โตไว และไร้ขีดจำกัด “เกิดได้ เกิดง่าย เกิดเร็ว และเอื้อประโยชน์อย่างสุด ๆ แก่ผู้ประกอบการ ในขณะที่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างใหญ่หลวงของกฎหมายคือ ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงการให้ความสำคัญที่ไม่เท่ากันระหว่างการเอาประโยชน์กับการป้องกันปัญหาและผลกระทบ สะท้อนความคิดที่จะ “เอาแต่ได้” โดยใส่ใจน้อยมากต่อ “ผลเสีย” ที่จะเกิดตามมา”