“เราอภิปรายไม่ไว้วางใจแพทองธาร ไม่ใช่ทักษิณ เราต้องยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นทางกฎหมายต้องนำชื่อ ‘ทักษิณ’ ออกจากญัตติ เพราะเป็นการอภิปรายแพทองธาร ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกมีอิทธิพลเหนือการบริหารประเทศจนชาติเสียหาย”
นี่คือจุดยืนของ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” กับ สมจิตต์ นวเครือสุนทร ท่ามกลางศึกชิงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ยังไร้ข้อยุติ หลังประธานสภาฯ ปฏิเสธการบรรจุวาระ หากฝ่ายค้านไม่ตัดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกจากเนื้อหา
ญัตตินี้ไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจทักษิณ
“ข้อกล่าวหาไม่ใช่ข้อกล่าวหาทักษิณ แต่เป็นข้อกล่าวหาแพทองธาร ที่ปล่อยให้คุณทักษิณมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนายกฯ ทำให้ตัดสินใจดำเนินการหรือละเว้นการดำเนินการบางอย่างที่สร้างความเสียหายต่อประเทศ”
พริษฐ์ ระบุว่า ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และการบริหารที่ล้มเหลว แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ คือ อิทธิพลของทักษิณ ที่มีต่อการบริหารของแพทองธาร
“นี่ไม่ใช่การอภิปรายทักษิณ แต่เรากำลังอภิปรายว่าทำไมนายกฯ ถึงปล่อยให้มีบุคคลภายนอกมีอิทธิพลเหนือการบริหารของตัวเอง”
เขายืนยันว่า “ไม่มีเหตุผลทางกฎหมาย” ที่ต้องตัดชื่อทักษิณออก เพราะรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมไม่ได้ห้ามการอภิปรายบุคคลภายนอก หากมีความจำเป็นเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหา
“นี่คือหลักการที่สำคัญ ถ้าเรายอมวันนี้ มันจะเป็นบรรทัดฐานที่ผิดพลาดสำหรับอนาคต”
อย่างไรก็ตามการอภิปรายในสภาฯ ก็เป็นเวทีสำคัญ จึงต้องหาทางออกที่ไม่กระทบต่อหลักการที่ยึดถือ ไม่ทำให้เนื้อหาในญัตติเสียไป รวมถึงให้การอภิปรายฯ เป็นไปได้อย่างเต็มที่ด้วย
อำนาจประธานสภาฯ มีแค่ตรวจสอบรูปแบบ ไม่ใช่ตัดสินใจเนื้อหา
พริษฐ์ ยังตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของ ประธานสภาฯ ที่ไม่บรรจุญัตติ โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหามีปัญหาด้วย “ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจตัดสินเนื้อหาญัตติ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อำนาจที่มีคือการตรวจสอบข้อบกพร่องในเรื่องรูปแบบ เช่น ลายเซ็นไม่ครบ หรือไม่ตรงกับที่มีอยู่ในระบบ”
เขาเตือนว่า “ถ้าเราปล่อยให้ประธานสภาฯ ตัดสินความเหมาะสมของเนื้อหาญัตติได้ หมายความว่าในอนาคต ประธานสภาฯ จะมีอำนาจก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายค้าน ถ้าประธานสภาฯ ยุคนี้ทำได้ ประธานสภาฯ ในยุคอื่นก็จะใช้อำนาจเดียวกันเพื่อตัดญัตติของฝ่ายค้านได้เช่นกัน” พริษฐ์ กล่าวและเตือนว่าการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะทำเกินอำนาจหน้าที่ของตัวเอง
“เหตุผลที่ใช้ค้านการบรรจุญัตติ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา”
อีกเหตุผลที่ทำให้พรรคประชาชนเห็นว่าการส่งเรื่องให้แก้ไขญัตติไ่ม่ถูกต้องคือเรื่องกรอบเวลาที่เอกสารส่งไปถึงผู้นำฝ่ายค้านที่เลยเวลา 7 วันไปแล้ว โดยครั้งแรกอ้างว่า มีการคุยด้วยวาจากับผู้นำฝ่ายค้านก่อนแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า “เราอนุญาตให้มีการใช้วาจาแทนหนังสือเป็นลายลักษณ์อกัษรแล้วหรือ?” อีกทั้งในการชี้แจงครั้งต่อมายังไปอ้างว่าการนับวันให้นับเฉพาะวันทำการไม่นับเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาฯ
“ยอมถอนชื่อทักษิณ แลกกับวันอภิปรายเพิ่มขึ้น?”
เขาตอบคำถามนี้ว่า เรื่องญัตติกับกรอบเวลาการอภิปรายเป็นคนลประเด็นกัน โดยย้ำว่า “ไม่มีความจำเป็นทางกฎหมายต้องนำชื่อออก” แต่ก็ต้องหาทางออกให้การอภิปรายเดินหน้าในสภาฯ ให้ได้ด้วย “เราพร้อมพิจารณาทางเลือก แต่ต้องไม่กระทบต่อเนื้อหาสาระของญัตติ การอภิปรายนอกสภาฯ แม้จะทำได้ แต่เราไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เพราะการอภิปรายในสภาฯ ก็มีความสำคัญ เนื่องจากมีบันทึก มีการลงมติ หากมีสส.ขาดไปแค่คนเดียวก็มีความหมายแล้ว เนื่องจากเป็นการอภิปรายฯ นายกฯ เพียงแค่คนเดียว“
ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายนั้น ฝ่ายค้านเคยเสนอที่ 5 วันแต่ฝ่ายรัฐบาลจะให้แค่วันเดียว ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลย ”พริษฐ์” ยกตัวอย่างการอภิปรายฯ ในอดีตมาสนับสนุนแนวคิดของตัวเอง โดยระบุว่าในรัฐบาลบรรหารและพล.อ. ชวลิต ซึ่งมีการอภิปรายนายกฯ คนเดียวก็ใช้เวลา 3-4 วันแม้แต่ในขณะพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน มีการอภิปรายพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยังกันเวลาไว้ถึง 30 ชม. จึงไม่เข้าใจว่าจะใช้เวลาวันเดียวได้อย่างไร โดยเห็นว่าเวลาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 3-4 วัน “ถ้าเราปล่อยให้กำหนดวันอภิปรายแค่วันเดียวจะเป็นมาตรฐานใหม่การเมืองไทยที่ไม่ดีสำหรับระบบตรวจสอบถ่วงดุลย์ของประเทศ จุดยืนของพรรคประชาชนเรื่องนี้เป็นหลักที่จะใช้ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม”
ฝ่ายค้านไม่ได้ฮั้วกับเพื่อไทย
พริษฐ์ปฏิเสธข้อครหาที่ว่า พรรคประชาชนไม่ได้คัดค้านรัฐบาลเพื่อไทยอย่างเต็มที่ “การกระทำและกาลเวลาจะเป็นบทพิสูจน์ เราทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างตรงไปตรงมา อะไรที่ไม่ชอบมาพากล ไม่ว่ามาจากรัฐบาลไหน ก็ต้องตรวจสอบ” เขาระบุพร้อมยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็น
เดิมพันครั้งสำคัญของพรรคประชาชน เพราะเป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของพรรคประชาชน หลังเลือกตั้ง 2566
พริษฐ์ย้ำว่า พรรคประชาชนให้ความสำคัญกับการตรวจสอบรัฐบาลในทุกเวที และการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า พรรคประชาชนทำงานเป็นฝ่ายค้านอย่างแท้จริง โดยในการอภิปรายครั้งนี้จะชี้ให้เห็นการบริหารที่ผิดพลาด ล้มเหลวทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการแก้ไขปัญหาทุจริต โดยจะมีการลงลึกในเรื่องที่สังคมตั้งคำถามอยู่แล้ว ไปจนถึงการเปิดเผยประเด็นใหม่ ๆ ที่สังคมยังไม่รับรู้ด้วย “ถามว่ามีใบเสร็จมัดเรื่องทุจริตหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าการกล่าวหาในประเด็นร้ายแรงต้องมีหลักฐานยืนยันอยู่แล้ว”
แตะทักษิณไม่ได้ ระวังย้อนศรเข้าตัว
เขาเชื่อว่า ถ้าทุกคนยึดบนหลักการก็ไม่ควรเป็นปัญหา เพราะเราไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจทักษิณ แต่อภิปรายไม่ไว้วางใจแพทองธาร โดยข้อกล่าวหาคือ นายกฯในฐานะที่ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของรัฐบาล ปล่อยให้มีบุคคลภายนอกมีอิทธิพลทางความคิดจนนำไปสู่ดำเนินการบางอย่างที่เกิดความเสียหาย ไม่ได้บอกว่าคนรับผิดชอบคือทักษิณ ถ้าทุกคึนยืนอยู่บนหลักนี้ การอภิปรายก็จะไม่มีปัญหาอะไร “สมาชิกรัฐบาลเองก็ไม่เคยปฏิเสธว่า ทักษิณมีอิทธิพลทางความคิดต่อรัฐบาลชุดนี้ เพียงแต่อาจมีมุมมองที่ต่างกันว่าอิทธิพลนั้นสร้างประโยชน์หรือสร้างโทษให้กับประเทศ ถ้าเชื่อมให้เห็นว่าการตัดสินใจบางอย่างของนายกฯ ที่ได้รับอิทธิพลจากทักษิณ มันนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนไหนก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เกินเลยจนอภิปรายไม่ได้ หรือผิดข้อบังคับ”
พริษฐ์ เตือนไปถึงสส.รัฐบาลด้วยว่า ถ้าจะมีการประท้วงว่าผิดข้อบังคับต้องชี้ให้ชัดว่าผิดเรื่องอะไร ถ้าจะพูดลอย ๆ ห้ามพูดถึงบุคคลภายนอกไม่ได้ เพราะข้อบังคับ 69 ระบุว่าพูดถึงบุคคลภายนอกได้หากมีความจำเป็น ซึ่งท้ายสุดก็เป็นความรับผิดชอบของนักการเมือง จะพูดอะไรในสภาฯ ก็คิดแล้วคิดอีกเพราะสังคมจับตา เรารู้ว่ามันถูกบันทึกไว้ ถ้าจะประท้วงอะไรที่ไม่มีหลักการรองรับ หวังว่าผู้พูดจะคำนึงถึงความรับผิดชอบทางการเมืองของตัวเองด้วยเช่นกัน “ถ้าประท้วงหนักใช้กลยุทธ์ขัดจังหวะ อาจจะยิ่งทำให้คนในสังคมสนใจมากขึ้นว่ากำลังพูดเรื่องอะไรกันอยู่
หวังประธานในที่ประชุมทำหน้าที่เป็น ”กลาง“
”ผมคิดว่าบทบาทประธานสภาฯ จำมีความสำคัญ ถ้าประท้วงจนอภิปรายไม่ได้และเป็นการประท้วงที่ไม่มีข้อบังคับรับรอง เราก็คาดหวังให้ประธานหรือรองประธานที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องวางตนเป็นกลาง และกำกับการประชุมให้เดินหน้าต่อได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเวทีใหญ่ที่เราตั้งใจและคาดหวัง โดยจะรักษามาตรฐานการทำงานไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนก็ตาม
“รัฐบาลอาจชนะในสภาฯ แต่จะแพ้ในสายตาประชาชน”
พริษฐ์บอกว่า รู้ดีว่าคณิตศาสตร์ทางการเมืองทำให้โอกาสที่เราจะชนะการลงมติในสภาฯ แทบเป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ในสภาฯ แต่คือการสื่อสารกับประชาชน เขามั่นใจว่า “หลังการอภิปราย แม้นายกฯ จะชนะเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ความไม่ไว้วางใจจากประชาชนจะเพิ่มขึ้น แม้นายกฯ จะชนะเสียงในสภาฯ แต่จะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจของประชาชน ที่มีต่อรัฐบาลและจะมองไปสู่ทางเลือกอื่น ๆ และเราต้องการเป็นทางเลือกนั้น“