ภายใต้ซากปรักหักพังของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2568 นอกเหนือจากภารกิจกู้ภัยและนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา อีกด้านหนึ่งคือภารกิจสำคัญในการหาผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ต่างตั้งข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสและเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างนี้ ใครคือผู้กระทำผิด และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น?
The Publisher ได้พูดคุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (ACT) เพื่อเจาะลึกถึงประเด็นความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ที่เต็มไปด้วยข้อกังขา
The Publisher: ท่านรองผู้ว่า สตง. อ้างว่าได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมกับทาง ACT เกี่ยวกับการตรวจสอบการก่อสร้างอาคาร สตง. แต่เหตุใดจึงยังปรากฏช่องโหว่และความสงสัยมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในโครงการนี้?
ดร.มานะ: โครงการนี้มีการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้จริงครับ แต่ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การใช้ข้อตกลงคุณธรรมนั้นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการร่างขอบเขตงาน (TOR) ก่อนการเปิดประมูลหาบริษัทรับเหมาก่อสร้างและบริษัทควบคุมงาน แต่ในกรณีนี้ ACT เข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อกระบวนการต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ได้ตัวผู้รับเหมาและมีการลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเริ่มงานก่อสร้างไปแล้วด้วย ดังนั้น เราจึงไม่สามารถตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ ทำได้เพียงติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมองไปข้างหน้า ทำให้เราไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้ครับ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง. อาจจะไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ พวกเขาอาจจะเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้านการเงินและเอกสาร แต่ขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องอัตราการก่อสร้าง การตรวจสอบคุณภาพเหล็กหรือปูน ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดได้
The Publisher: แม้กระทั่งไม่ทราบเลยหรือครับว่าบริษัทที่รับงานเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีน ตามที่ท่านรองผู้ว่า สตง. กล่าวอ้าง?
ดร.มานะ: เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ครับ เป็นไปไม่ได้ที่ สตง. จะไม่ทราบว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทร่วมทุน เพราะในสัญญามีการระบุชื่ออย่างชัดเจนว่าเป็น “กิจการร่วมค้า” แต่ก็เป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหาร สตง. อาจจะเข้าใจว่าผู้รับเหมาหลักคือ บริษัท อิตาเลียน-ไทย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า บุคลากรในหน่วยงานตรวจสอบด้านการเงิน อาจจะยังขาดความรอบรู้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตและปัญหาต่างๆ ได้
ด้วยเหตุผลนี้ เราคงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า ในอนาคตหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็ตาม จะต้องเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ต้องมีการจัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ในหลากหลายด้าน
The Publisher: แต่ในมุมมองของประชาชน เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าใครควรจะต้องรับผิดชอบ สตง. ในฐานะเจ้าของโครงการ ต้องรับผิดชอบหรือไม่?
ดร.มานะ: แน่นอนครับ สตง. ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยว่ากันไปตามข้อมูลและหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ บริษัทออกแบบ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัทควบคุมงาน ก็จะต้องถูกตรวจสอบและดำเนินการตามหลักฐานเช่นกัน เมื่อมีการพิสูจน์แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง แต่สำหรับ สตง. ในฐานะเจ้าของโครงการ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ก็คงต้องรับผิดชอบตามสมควรแก่กรณี
เราได้ยินทาง สตง. กล่าวถึงว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน แต่ในฐานะประชาชน เราต้องช่วยกันจับตาดูว่า การดำเนินงานในครั้งนี้มีความรอบคอบ มีการใช้เงินอย่างเหมาะสมหรือไม่ และในอนาคตภาครัฐควรจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
The Publisher: จำเป็นต้องพิจารณาถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยหรือไม่ครับ เพราะดูเหมือนจะมีช่องว่างในกระบวนการ เช่น การตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง หรือที่เรียกว่าระบบการตรวจสอบ?
ดร.มานะ: เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว สตง. ต้องกลับมาทบทวน และหน่วยงานรัฐทั้งหมดก็ต้องทบทวนเช่นกัน องค์กรใหญ่ที่สุดของประเทศคือรัฐบาล ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการวางแนวทางป้องกันในอนาคต ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปแล้วรัฐบาลลอยตัว ปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น
ในสายตาของประชาชน อยากให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและรุนแรง ภาครัฐจะต้องยอมรับความจริงในการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ข้อมูลมีความโปร่งใส โครงการขนาดใหญ่ระดับเมกะโปรเจกต์ ระดับพันล้านบาทขึ้นไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ ผ่านข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่เริ่มต้น และให้เป็นภาคบังคับที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกโครงการ
The Publisher: เท่ากับว่าเราต้องมาพูดคุยถึงประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างกันใหม่ใช่ไหมครับ?
ดร.มานะ: ถูกต้องครับ เรื่องตึก สตง. สะท้อนให้เห็นว่ามีช่องทางให้เกิดการรั่วไหล หรือความไม่รัดกุมอยู่ในระบบของเรามาก ไม่ใช่แค่โครงการนี้เท่านั้น แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนในระบบการป้องกันการทุจริตภาครัฐที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นมาหลายสิบปีแล้วก็ยังคงเป็นเช่นนี้ แปลว่าที่ผ่านมาเราควบคุมไม่รัดกุมพอ ทำได้ไม่ดีพอ และไม่จริงจังมากพอ
The Publisher: กรณีตึก สตง. ดร.มานะ มองว่ามีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมบ้างหรือไม่ครับ?
ดร.มานะ: มันมีข้อสงสัยและพิรุธในหลายประเด็นครับ เราต้องรอฟังผลการพิสูจน์ทางวิศวกรรมก่อนว่า สาเหตุเกิดจากแบบแปลน การคำนวณ การก่อสร้างของผู้รับเหมา หรือมาตรฐานการดำเนินงานของผู้รับเหมา มีการโกงสเปกวัสดุ เช่น เหล็กหรือปูน ที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ หรือมีการกำหนดแบบก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้กับใครบางคน เช่น มีการจ่ายเงินทอน
แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พบ 3 ปัจจัยหลักที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ 1. ผู้เกี่ยวข้องมีการทุจริต 2. มีการใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เช่น เหล็กหรือปูนไม่ได้มาตรฐาน 3. กำหนดแบบก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง
The Publisher: เท่ากับว่า ระบบตรวจสอบของเราอ่อนแอ หรือไม่มีประสิทธิภาพใช่หรือไม่ครับ เพราะยิ่งขุดคุ้ยลงไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจอแต่ปัญหา?
ดร.มานะ: วันนี้ที่เรามาพูดถึงเรื่องระบบตรวจสอบอ่อนแอมันช้าเกินไปแล้วครับ เพราะเมื่อเกิดการทุจริตขึ้น มันหมายความว่าบ้านเมืองเสียหายแล้ว มีผู้เสียชีวิตแล้ว อาคารพังทลายไปแล้ว เราเสียชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว วันนี้เราต้องมาพูดกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลยว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ รัดกุมหรือไม่ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการตรวจสอบอย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ และสุดท้ายเมื่อเกิดการทุจริต มีการลงโทษอย่างสาสม ทำให้คนเกรงกลัวที่จะโกงหรือไม่
The Publisher: ถ้ารอแก้กฎหมายที่ล้าสมัย มันจะช้าเกินไปหรือไม่ครับ?
ดร.มานะ: ไม่ช้าครับ การทุจริตเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ถ้าวันนี้เราเอาจริงเอาจัง รัฐบาลเป็นผู้นำในการปฏิรูป ชูธงต่อต้านการทุจริต ต่อสู้ให้เป็นวาระแห่งชาติ บอกกับประชาชนว่า รัฐบาลต้องการเห็นอะไร จะทำอะไรให้ประชาชนช่วยอะไร รัฐบาลต้องการให้ ป.ป.ช., สตง., ดีเอสไอ, และ ปปง. ทำอะไร รัฐบาลต้องมีความชัดเจนครับ แล้วการแก้ไขกฎหมายให้เดินตามมาก็ไม่ช้า ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยครับ
The Publisher: ท่านรู้สึกอย่างไรครับ ที่ทาง สตง. บอกว่าไม่เป็นไรตึกพังไปแล้ว ก็จะใช้เงินใหม่มาสร้างตึกใหม่ อาจจะเล็กกว่าเดิม คนอาจคิดว่ามันเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เงินของ สตง. หรือเปล่า?
ดร.มานะ: แน่นอนว่าเรื่องตึกถล่มเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศเสียใจที่มีผู้เสียชีวิต เราเสียดายเงินภาษีที่สูญเสียไป แต่ชีวิตต้องเดินหน้า ประเทศต้องก้าวต่อไป เมื่อพวกเขามีความจำเป็นต้องมีสถานที่ทำงานที่ได้มาตรฐานที่ดี การก่อสร้างก็ต้องดำเนินต่อไป แต่การดำเนินการในครั้งนี้ต้องกลับเข้าสู่รูปแบบที่รัดกุมมากขึ้น และผมเชื่อว่า สตง. จะพิจารณาในเรื่องความปลอดภัย ความคุ้มค่าของเงิน และความโปร่งใสอย่างรอบคอบครับ #ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #ตึกถล่ม #ตึกสตงถล่ม #แผ่นดินไหว #แผ่นดินไหวประเทศไทย #สตง