ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แต่แทนที่รัฐบาลจะวางรากฐานให้ประชาชนมีหลักประกันความมั่นคงยามแก่เฒ่า กลับเลือกเดินเส้นทางสาย “ประชานิยม” ทุ่มเงินแจกสารพัด แต่เมื่อถึงคราวต้องเซ็นรับรอง “กฎหมายบำนาญประชาชน” ที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี กลับปัดตกแบบไม่แยแส!
“ไม่เซ็น ไม่สน ไม่แคร์?”
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่รับรอง ร่างกฎหมายบำนาญประชาชน ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภา ทั้ง ๆ ที่ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายชัดเจน “ให้ผู้สูงอายุมีบำนาญพื้นฐานที่เพียงพอ ไม่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพในวัยเกษียณ”
แต่นายกฯ กลับตีตก โดยไม่แม้แต่จะชี้แจงเหตุผลชัดเจน ว่า “ทำไมถึงไม่เซ็น?”
แจกเงินทีเป็นหมื่น แต่เบี้ยยังชีพยังเท่าเดิม!
ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้า แจกเงินประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน
• แจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (แต่หนี้ประเทศก็พุ่งไปด้วย)
• เพิ่มเงินช่วยเหลือรายกลุ่ม ทั้งเด็กแรกเกิด แม่เลี้ยงเดี่ยว เกษตรกร ฯลฯ
• อุดหนุนราคาสินค้า พยุงค่าไฟ ค่าแก๊ส ฯลฯ
แต่พอมาถึง “ผู้สูงอายุ” ที่ต้องการบำนาญพื้นฐาน รัฐบาลกลับ ไม่สนใจ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคง 600-1,000 บาท/เดือน แล้วแบบนี้จะให้พวกเขาอยู่ยังไง?
รัฐบาลอ้าง “ไม่มีเงิน” แต่แจกเก่งทุกโครงการ
เวลาพูดถึงบำนาญประชาชน รัฐบาลบอกไม่มีงบ ต้องรัดเข็มขัด ต้องคิดให้รอบคอบ แต่พอเป็นนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลอนุมัติงบเป็นแสนล้านได้สบาย ๆ ถ้ารัฐบาลมีเงินแจกเงินดิจิทัล 2-3 แสนล้านบาท แล้วทำไมไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้คนแก่?
ในหลายประเทศ รัฐดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ ไม่ใช่แค่ช่วงเลือกตั้ง!
• ญี่ปุ่น มีเงินบำนาญผู้สูงอายุขั้นต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน
• สิงคโปร์ มีระบบเงินสะสมเกษียณที่รัฐบาลสมทบให้
• ประเทศในยุโรป ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการดูแลสุขภาพแบบเต็มที่
แต่ในไทย ผู้สูงอายุถูกปล่อยให้หาเลี้ยงตัวเองต่อไป บางคนต้องออกมาทำงานล้างจาน ขายของข้างถนน ทั้งที่อายุ 70-80 ปี
ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ขยัน แต่เพราะระบบรัฐไม่เคยให้หลักประกันชีวิตที่มั่นคงแก่พวกเขา!
กฎหมายบำนาญไม่เซ็น ทีประชานิยมละแจกไม่หยุด ถ้าเป็นนโยบายแจกเงินที่ช่วยกระตุ้นคะแนนเสียง ทำอย่างไว แต่ถ้าเป็นนโยบายระยะยาวที่สร้างหลักประกันให้ประชาชน กลับถูกเมินเฉย! หรือนี่คือบทสรุปของรัฐบาลแพทองธาร?