น.ส. สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ถึงกรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เซ็นรับรองร่างกฎหมายบำนาญประชาชน 3 ฉบับ และร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน 1 ฉบับ ซึ่งรวมถึงร่างพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. ที่นำเสนอโดย นายเซีย จำปาทอง อดีตสส.พรรคก้าวไกล ว่า
ไม่เซอร์ไพรส์! เพราะรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับ “บำนาญปชช.”
ไม่แปลกใจมากนัก เพราะการทำบำนาญไม่ใช่ทิศทางและแนวนโยบายของพรรครัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งจากการบริหารประเทศที่ผ่านมา ได้มีการแจกเงินหนึ่งหมื่นใช้ไป 3-4 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณนี้ตั้งงบฯ จ่าายบำนาญให้ข้าราชการเกษียณประมาณ 3 แสนล้านบาท “ถามว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการดูแลประชาชนที่อยู่ในวัยสูงอายุหรือไม่ คำตอบคือน้อยมาก ที่เคยรับปากว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพก็ยังไม่ได้ดำเนินการ
“บำนาญ” ไม่ใใช่การสงเคราะห์ แต่คือหลักประกันชีวิต
สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ถูกปัดตกไปเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดว่า “ไม่ใช่การสงเคราะห์” ผู้สูงอายุ แต่เป็นการสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัยให้กับประชาชน ในลักษณะรัฐสวัสดิการ โดยอ้างอิงเส้นความยากจนไม่เกินสามพันบาทต่อปี แต่รัฐบาลไม่ทำ พูดอย่างไรก็คงไม่ทำ จึงต้องมองไปข้างหน้าว่า เราจะรณรงค์และสร้างความเข้าใจกับผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า ต้องมองไปที่รัฐบาลหน้า “ต้องได้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่สนใจปัญหานี้ และเสนอนโยบายนี้อย่างชัดเจนเพื่อเราจะได้ติดตามได้”
งบฯ 3 แสนล้านจ่าย ขรก.ได้ แต่งบบำนาญปชช.เป็นภาระ?
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า “บำนาญประชาชน” จะเป็นภาระงบประมาณมากเกินไปนั้น น.ส.สุรีรัตน์ ไม่คิดเช่นนั้น โดยเห็นว่า หากเทียบกับการที่รัฐบาลจ่ายบำนาญให้ข้าราชการ 4-5 แสนคน เป็นเงินราว 3 แสนล้านบาท ก็ต้องถามว่าถ้าคุณใช้เงินสามแสนล้านจ่ายให้ข้าราชการ ใช้เงินอีกสองแสนกว่าล้านทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การทำระบบเหล่านี้ลดความเหลื่อมล้ำได้ทันที ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน สามารถนำเงินไปทำอย่างอื่นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ เช่นเดียวกับระบบบำนาญใช้เงิน 3-4 แสนล้านบาท ถือเป็นระบบพื้นฐาน ถ้ารัฐขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการที่จะจ่ายภาษี ก็ต้องนำเงินภาษีเหล่านั้นมาเฉลี่ยคืนให้กับประชาชนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐบาล
“บำนาญ” ต้องเป็นสิทธิ ไม่ใช่แค่โชคชะตา ดันหวยบำนาญ “คิดง่ายเกินไป”
”มันไม่มีเหตุผลใดที่จะพูดว่าเป็นภาระงบประมาณ ในขณะที่คุณภาพชีวิตการทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน จะทำให้เกิดสปริงบอร์ดให้คนรุ่นนี้สามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ เพราะไม่ต้องมีภาระดูแลพ่อแม่อย่างเดียว นี่คือเหตุผลที่ทั่วโลกก็มองว่าการจัดสวัสดิการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่รัฐควรดูแล
เมื่อถามว่ารัฐบาลอาจเตรียมทำหวยบำนาญจึงปัดตกร่างกฎหมายบำนาญฯ คิดอย่างไร น.ส.สุรีรัตน์ มองว่า ไม่สามารถทดแทนกันได้ “หวยบำนาญเป็นวิธีคิดที่ง่ายเกินไป เพราะประชาชนทุกคนไม่ได้ซื้อหวย คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ถ้าอยากทำให้เป็นระบบบำนาญเป็นหลักประกันจนกว่าจะเสียชีวิต รัฐบาลก็มีรายได้จากหวยอยู่แล้ว ถ้าจะเอาหวยใต้ดินมาอยู่บนดิน รายได้หวยก็ระบุเลยว่าจะเอามาสร้างเป็นบำนาญพื้นฐานให้ประชาชนแบบนี้จะดีกว่า”