ดีกรีการเมืองไทยตอนนี้อาจเรียกได้ว่าร้อนแรงปรอทแทบแตก เมื่อ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาต่อ 44 อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล จากปมเสนอแก้ไข มาตรา 112 ว่าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การ ตัดสิทธิทางการเมือง หรือแม้แต่การดำเนินคดีทางกฎหมาย
แต่เรื่องนี้ ไม่ได้จบแค่ที่ฝั่ง ส.ส. ฝ่ายค้าน เพราะล่าสุดพรรคประชาชนเตรียม ยื่นสอบจริยธรรม สุชาติ ตระกูลมหาเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 จากคลิปฉาวเจรจาในทำนองขอให้ยุติคำร้องของ บิ๊กโจ๊ก (พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล) กับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
คำถามใหญ่จึงเกิดขึ้นว่า… นี่คือกระบวนการตรวจสอบ หรือเป็นเกมเอาคืนกันแน่?
ป.ป.ช. แจ้งข้อหาอดีต ส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ตัวเองก็โดนสอบจริยธรรม
44 อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง จากการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่ง ป.ป.ช. อ้างว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และอาจนำไปสู่การถูก ถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมือง แต่ป.ป.ช. ที่ตรวจสอบคนอื่น วันนี้กลายเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบเสียเอง
เมื่อคนตรวจสอบ กลายเป็นผู้ถูกตรวจสอบ
สุชาติ ตระกูลมหาเกษมสุข ซึ่งเป็นคนมีอำนาจสูงสุดใน ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่ามีเอี่ยวในดีลลับกับวันนอร์ หลังจากมีคลิปเสียงหลุดออกมาที่ชวนให้สงสัยว่า มีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ ป.ป.ช. ยุติการสอบสวนคดีของบิ๊กโจ๊ก
การที่ สุชาติ คือคนที่มีหน้าที่ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนจริยธรรม ส.ส. แต่ตัวเขาเองกลับถูกกล่าวหาว่าทำผิดจริยธรรมเสียเอง นี่จึงเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าแค่เกมการเมือง แต่มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่สั่นคลอน เลวร้ายไปกว่านั้นเมื่อจะตรวจสอบ สุชาติ ยังต้องส่งเรื่องให้วันนอร์ ซึ่งก็คือบุคคลในคลิปฉาวที่ถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมเช่นเดียวกัน
เปิดรธน.ม. 236 กลไกตรวจสอบองค์กรอิสระ ที่เต็มไปด้วยช่องโหว่
การยื่นสอบจริยธรรม สุชาติ อิงตาม มาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดขั้นตอนการกล่าวหา “กรรมการ ป.ป.ช.“ มีรายละเอียด ดังนี้ สส.หรือสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยประธานรัฐสภาพิจารณาเห็นว่า ”มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้ง “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” ผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อกล่าวหาถ้าเห็นว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย แต่ถ้าพฤติการณ์ไม่ใช่เรื่องจริยธรรม ให้ส่งสำนวนไปอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปัญหาคือ… จุดเริ่มต้นก่อนไปศาลฎีกา จนถึงขั้นตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ส่งศาลฯ พิจารณาคดี “วันนอร์” ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในคลิปฉาวต้องเป็นคนส่งเรื่อง
เมื่อกลไกตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของ 44 สส. หรือ ป.ป.ช. แต่มันสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของไทยไม่สมดุล
รธน. 60 ให้ “ประธานรัฐสภา” มีอำนาจใช้ดุลพินิจส่งหรือไม่ส่งเรื่องตรวจสอบองค์กรอิสระได้ ต่างจาก รธน. 50 ที่ให้ส่งเรื่องโดยอัตโนมัติ ป.ป.ช.สอบจริยธรรมนักการเมืองส่งศาลฎีกา นักการเมืองคือประธานรัฐสภามีอำนาจชี้ชะตาองค์กรอิสระรวม ป.ป.ช. จะโดนสอยจริยธรรมหรือจะยุติเรื่องทุกอย่างอยู่ในมือนักการเมือง
ระบบนี้ทำให้เกิดการ “วิ่งเต้นทางการเมือง” หรือ “ต่อรองทางอำนาจ” ได้ง่าย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือนักการเมือง สุดท้ายระบบตรวจสอบล้มเหลว ดังสิ่งที่ได้เห็นจากคลิปฉาว
ระบบมีปัญหา คนมีปัญหา แล้วประชาชนจะหวังพึ่งใคร
คำถามสำคัญคือ จะเดินหน้ากันอย่างไร เมื่อ ป.ป.ช.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายการเมือง แต่ตัวเองกลับถูกกล่าวหาว่ามีเอี่ยวในเกมต่อรองเพื่อยุติคำร้องของตัวเอง จะเหลือความเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร
รัฐสภามีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบองค์กรอิสระ แต่คนที่ต้องส่งเรื่องตรวจสอบคือ วันนอร์ กลับเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในกระบวนการที่ส่อว่าผิดจริยธรรม และอาจลามไปถึงความผิดตามมาตรา 157 ด้วย อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้เปิดช่องให้คนอื่นทำแทน กรณีประธานรัฐสภา เข้าข่ายมีผลประโยชน์ขัดกันเพราะเกี่ยวพันกับปมที่มีการร้องเรียนด้วย
นี่จึงเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียกร้องให้ทั้ง “สุชาติ” และ “วันนอร์” แสดงสปิริตด้วยการลาออก แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะไม่สนใจ และยังไม่มีทีท่าว่าจะลาออกตามที่มีกระแสกดดัน
ถ้าระบบตรวจสอบล้มเหลว ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร?
ถ้า “วันนอร์” มีความเป็นธรรมจะส่งเรื่องตรวจสอบโดยไม่ลังเลหรือเปล่า? ในทางกลับกันเมื่อมีเรื่องของ “วันนอร์” เข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. เพื่อสอบจริยธรรม “สุชาติ” จะปล่อยให้ป.ป.ช. ซึ่งเขาเป็นประธาน ทำหน้าที่ได้โดยอิสระจริงหรือ? เพราะเขาเองก็อยู่ในกระบวนการที่ถูกกล่าวหาว่า “ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง” ด้วย
ถ้าจะแก้รธน.กันจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องแก้ทั้งฉบับ อย่าไปแตะเรื่องจริยธรรมที่กำกับนักการเมือง แต่แก้ไขเรื่องกลไกตรวจสอบที่เอื้อให้เกิดการต่อรอง ทำการถ่วงดุลล้มเหลว กลายเป็น “เกี้ยเซี้ย” ได้ง่าย
ถามต่อว่า แล้วนักการเมืองจะแก้รธน.เพื่อสร้างระบบตรวจสอบที่แข็งแรง หรือยังอยู่ในวังวนแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง