พลิกกันนาทีสุดท้ายสำหรับศึกซักฟอก ที่เดิม “พรรคประชาชน” วางแผนหว่านแห “ล่อทุกเม็ด เด็ดหัวหลายคน” มาเป็น ยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่เน้นโจมตีพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด แต่พุ่งเป้าไปที่ตัว ‘นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร’ คนเดียว เผยไต๋มาว่าจะเอาให้สะเทือนจนถึงขั้นต้อง “ยุบสภา”
อะไรอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้?
มีรายงานว่าสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแผนส่วนหนึ่งเพราะเกลือเป็นหนอน ข้อมูลภายในรั่วไหล รายชื่อรมต. 10 คน พร้อมพฤติกรรมละเอียดยิบถูกส่งออกให้รัฐบาลรู้ข้อสอบล่วงหน้า จนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นพุ่งเป้าไปที่นายกฯ คนเดียว ประกอบกับรัฐบาลผสมชุดนี้ เปราะบางตั้งแต่วันแรก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อไทย (แกนนำรัฐบาล) กับ ภูมิใจไทย ที่แม้จะร่วมรัฐบาลกัน แต่ก็ยังมีทั้งการแข่งขันในที มีความไม่ไว้วางใจกันอยู่ หนักที่สุดคือ การเมืองแบบขัดแข้งขัดขา ที่ทำให้เพื่อไทยไปแทบไม่เป็น จนต้องหันมาใช้กฎหมายเล่นงานกลับ
การโจมตี ‘แพทองธาร’ เพียงคนเดียว เท่ากับส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ถ้ามีความไม่พอใจใด ๆ อยู่ ก็ระบายผ่านการลงคะแนนได้เลย อย่างไรก็ตามถ้า “พรรคประชาชน” คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะคว่ำกันเองในห้วงเวลานี้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก “เพราะต่อหน้าผลประโยชน์ ขัดแย้งหนักแค่ไหนก็จบลงที่จูบปากทุกทีไป”
เล่นกับจุดอ่อนของแพทองธาร – ประสบการณ์ทางการเมือง
ที่น่าจับตาคือ หากพรรคประชาชน เล็งไปที่จุดอ่อนของ “แพทองธาร”ที่เพิ่งขึ้นเป็นนายกฯ สด ๆ ร้อน ๆ อ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง อีกทั้งสลัดคราบ “คุณหนู” ออกจากตัวไม่ได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านจะ โจมตีจุดอ่อนนี้ อาจได้เห็นการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เกิดอาการปรี๊ดแตกกลางสภาฯได้เหมือนกัน ซึ่งหากสามารถทำให้แพทองธาร แสดงความไม่มั่นคง หรือไม่สามารถตอบคำถามได้ดี แม้จะ “ล้ม” ไม่ได้ แต่ก็ทำให้ “ร่วง” ได้ในสายตาของประชาชน
ใช้ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ล้มกันเอง
อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจะเป็นจุดแข็งของการซักฟอกเฉพาะนายกฯ คือ ถ้าฝ่ายค้านโจมตีพรรคร่วมทั้งหมด พรรคร่วมอาจกลับไปปกป้องกันเอง แต่ถ้าพุ่งเป้าที่นายกฯ คนเดียว พรรคร่วมอาจเลือก “วางเฉย” หรือใช้จังหวะนี้ต่อรองอำนาจ แม้จะจบที่ดีลลงตัวแต่ก็ทำให้เกิดการสั่นคลอนภายในพรรคร่วมรัฐบาลได้ไม่มากก็น้อย สถานการณ์นี้อาจทำให้รัฐบาลดูอ่อนแอ จนพรรคที่มีอำนาจต่อรองสูงอย่าง ภูมิใจไทย หรือพรรคอื่น ๆ ใช้จังหวะนี้กดดันเพื่อขอผลประโยชน์เพิ่ม
ถามว่า แผนนี้ของฝ่ายค้านจะได้ผลหรือไม่? ก็ต้องย้ำอีกทีว่า “นักการเมืองทะเลาะกัน แต่สุดท้ายก็จูบปากกันทุกที” เพราะพวกเขาท่องสูตรนักการเมืองไม่มีศัตรูถาวร แต่มีผลประโยชน์ถาวร ดังนั้น แม้ฝ่ายค้านจะโจมตีหนัก แต่หากผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลยังลงตัว ไม่ว่าเกมหนักแค่ไหน ข้อมูลดีเพียงใด ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้
ออกหมัดไม่หนัก ระวังเป็นแค่ “ศึกวาทกรรม”
นี่ยังไม่นับรวมว่า “พรรคประชาชน” เองก็ถูก “ประชาชน” คลางแคลงใจว่า “ค้านเต็มตัว” จริงหรือไม่ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่าง “ส้ม” กับ “แดง” ก็ไม่ธรรมดา ถึงขั้น “ธนาธร” ยอมรับตรง ๆ เคยบินไปฮ่องกงดีลกับ “ทักษิณ” มาแล้ว ก่อนถูกเตะออกจากอำนาจ จนถึงขั้นเจ้าตัวโอดครวญว่า “ดูหลังผมสิมีดปักเต็มเลย” แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นบทบาทฝ่ายค้านของพรรคประชาชนก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่อยมาว่า “เอาจริง” หรือแค่ “การแสดง”
ปฏิบัติการครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นบทพิสูจน์วุฒิภาวะ ความรู้ความสามารถ“แพทองธาร” เท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบ “พรรคประชาชน”ด้วย หากออกหมัดไม่หนักพอ การซักฟอกครั้งนี้ก็อาจเป็นแค่ “ศึกวาทกรรม” ที่ไม่ได้เปลี่ยนเกมมากนัก