กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ร่วมกับ หน่วยสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรมตำรวจสิงคโปร์ (TCIB SPF) เปิดปฏิบัติการสืบสวนข้ามพรมแดน แกะรอยและจับกุมแฮกเกอร์ระดับโลก ที่ใช้นามแฝง “Desorden GhostR” หรือ “0mid16B Group” เบื้องหลังการเจาะระบบข้อมูลทั่วโลก
แผนไล่ล่าแฮกเกอร์ข้ามชาติ จับกุม ‘Mr. Chia’ แก๊งเจาะข้อมูลระดับโลก
ตำรวจ บก.ปอท. ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่ามี แฮกเกอร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์และขโมยข้อมูลลูกค้า ของบริษัท ก่อนนำไปโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลโดยใช้บัญชี “0mid16B Group” เมื่อสืบสวนร่วมกับ TCIB SPF พบว่า พฤติกรรมสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Desorden GhostR ที่มีประวัติแฮกข้อมูลและขายในตลาดมืดระดับนานาชาติ
ทีมสืบสวนได้ แกะรอยพฤติกรรมของผู้ต้องหา ผ่านการสืบสวนเชิงลึกและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเทคนิค จนสามารถระบุตัวตนและรวบรวมหลักฐาน เพื่อขอศาลอาญามีนบุรีออกหมายค้น (คำร้องที่ ค.103/2568 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2568)
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นเป้าหมาย และพบพยานหลักฐานชัดเจนว่าผู้ต้องหาคือ “Mr. Chia” อายุ 39 ปี สัญชาติสิงคโปร์ แฮกเกอร์ที่อยู่เบื้องหลังบัญชี “0mid16B” และมีพฤติกรรมขายข้อมูลที่ขโมยได้ผ่านตลาดมืดออนไลน์
เปิดโปงเครือข่าย ‘Desorden GhostR’ แฮกเกอร์ที่โลกต้องการตัว
จากรายงานของ Group-IB ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ พบว่ากลุ่ม Desorden GhostR เคยก่อเหตุเจาะข้อมูลในไทยมากถึง 20 ราย และในต่างประเทศ กว่า 50 ราย ตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งเป้าโจมตีหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ ก่อนนำข้อมูลที่ขโมยไปขายในตลาดมืดหรือใช้ข่มขู่เรียกค่าไถ่
ของกลางที่ถูกตรวจยึดจากผู้ต้องหา ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลและฮาร์ดแวร์เชื่อมโยงการโจมตี และทรัพย์สินหรูหรามูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
CIB เตือนภัยไซเบอร์ แนะองค์กร-ประชาชนรับมือ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนว่า อาชญากรรมไซเบอร์มีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น ทั้งการเจาะระบบฐานข้อมูล การปลอมแปลงตัวตน และการขายข้อมูลในตลาดมืด โดยแนะให้ องค์กรและประชาชนป้องกันตนเอง ด้วยวิธีดังนี้
สำหรับองค์กร ใช้ Firewall, Antivirus และ Multi-Factor Authentication เข้ารหัสข้อมูลสำคัญและจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง จัดอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงภัยไซเบอร์ และต้องมีแผนรับมือและสำรองข้อมูลสม่ำเสมอ
สำหรับประชาชน แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่แข็งแกร่งและไม่ใช้รหัสซ้ำกัน
หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ต้องสงสัยจากอีเมลและข้อความ ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายปลอดภัย และติดตามข่าวสารและอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นประจำ
หากพบว่าตกเป็นเหยื่อ ควรรวบรวมหลักฐานและแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
การจับกุมครั้งนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง CIB, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด และ TCIB SPF ในการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ และแสดงให้เห็นว่า “ไม่มีใครหลบหนีจากเครือข่ายการสืบสวนระดับโลกได้”