เวทีการเมืองไทยกำลังระอุ เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงสมดุลอำนาจในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ที่ขบเหลี่ยมกันอยู่แล้ว
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จากนิด้า วิเคราะห์ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ของ The Publisher ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ว่า นี่คือ กลยุทธ์ของฝ่ายค้านที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลง แต่กลับเป็นการเปิดทางให้ “ภูมิใจไทย” มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น “การที่ฝ่ายค้านเลือกซักฟอกเฉพาะนายกฯ โดยไม่แตะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เท่ากับทำให้ภูมิใจไทยลอยตัว มีแต้มต่อทางการเมืองมากขึ้น”
ศึกเพื่อไทย-ภูมิใจไทย: เบื้องหลังการเมืองเลือดสาด
ศึกระหว่าง เพื่อไทย และ ภูมิใจไทย ดุเดือดมาตลอด และยิ่งดุดันขึ้น หลังภูมิใจไทยขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การแก้เกมของพรรคเพื่อไทยโดยใช้กฎหมายและกลไกรัฐเป็นเครื่องมือ จากการตรวจสอบสนามกอล์ฟตระกูลอนุทินที่เขาใหญ่ และล่าสุดการผลักดันให้ดีเอสไอพิจารณารับคดีฮั้วของ ส.ว. สีน้ำเงินเป็น “คดีพิเศษ” แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะเกิดการเลื่อนประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษจากวันที่ 25 ก.พ. ไปเป็น 6 มี.ค. เป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้ รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า “อำนาจบารมีของนายทักษิณ ชินวัตร เสื่อมลงไปมาก” เขาชี้ว่า หากเพื่อไทยยังคุมเกมอยู่ การตัดสินใจรับคดีพิเศษควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 25 ก.พ. แล้ว ไม่ใช่เลื่อนไปเป็นวันที่ 6มีนาคม
“ทักษิณยุค 44-45 กับทักษิณยุคนี้ คนละเรื่องกัน อำนาจบารมีคนละระดับ เห็นได้ชัดว่าเขาไม่สามารถกำกับทิศทางทุกอย่างได้เหมือนเดิมอีกแล้ว”
คาดประท้วงแหลกแสดงความภักดี ”ทักษิณ“
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รศ.ดร.พิชาย เชื่อว่า “ชื่อของทักษิณ” จะถูกหยิบยกขึ้นมาซักฟอกอย่างแน่นอน เพราะมีข้อกล่าวหาในญัตติว่า นายกฯ แพทองธาร เป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่มีทักษิณอยู่เบื้องหลัง “ทันทีที่มีชื่อ ‘ทักษิณ’ ดังขึ้นในสภา จะเกิดการประท้วงกันวุ่นวายแน่นอน ส.ส. ที่จงรักภักดีจะขัดขวางอภิปรายเต็มที่”
ขณะที่ ข้อกล่าวหาหลัก ต่อ น.ส.แพทองธาร ซึ่งเน้นไปที่ไร้ภาวะผู้นำไม่มีความรู้ความสามารถ นั้น รศ.ดร.พิชาย คิดว่ามีน้ำหนัก เพราะคนจำนวนมากก็เห็นว่า “นี่คือนายกฯ ที่ไม่มีวุฒิภาวะ ขาดความสามารถจริง ๆ”
รศ.ดร.พิชาย ยังยกดัชนีชี้วัดสำคัญ ที่สะท้อนปัญหาในรัฐบาลชุดนี้ ได้แก่
ดัชนีความโปร่งใสไทย ได้ 34 คะแนน ต่ำสุดในรอบ 12 ปี GDP ไทยโตรั้งท้ายอาเซียน คุณภาพการศึกษาตกต่ำ
นายกฯ จะควบคุมอารมณ์ได้หรือไม่?
เมื่อถูกถามว่านายกฯ จะรับมือกับแรงกดดันในสภาได้หรือไม่ รศ.ดร.พิชาย คาดว่า “เธออาจจะพยายามควบคุมอารมณ์ แต่ถ้าโดนบี้หนัก ๆ ก็อาจหลุด และกลายเป็น Talk of the Town ได้”
ทำไมอภิปรายแค่ “นายกฯ คนเดียว” ถึงทำให้เพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำ?
รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า หากฝ่ายค้าน อภิปรายพร้อมกันทั้งนายกฯ และนายอนุทิน พรรคภูมิใจไทยก็จะถูกบีบให้อยู่ในเกม ต้องลดท่าทีแข็งกร้าว เพราะต้องการแรงสนับสนุนจากเพื่อไทยในการโหวตให้อนุทินอยู่รอด แต่เมื่อเลือกอภิปรายแค่นายกฯ ภูมิใจไทยกลับกลายเป็นผู้คุมเกม “ภูมิใจไทยลอยตัว อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ไม่ถูกซักฟอก ทำให้กลับมามีอำนาจเหนือกว่าเพื่อไทย หลังเพลี่ยงพล้ำไปจากการเอาคืนของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.พ.ท”
ถ้าอภิปรายพร้อมกันทั้งสองคน สองพรรคจะฮั้วกันหรือไม่?
เมื่อถามว่า หากอภิปรายทั้งนายกฯ และอนุทิน จะมีดีลลับหรือไม่? รศ.ดร.พิชาย มองว่า เป็นไปได้ทั้งสองทาง “อาจฮั้วกัน หรืออาจถือมีดซ่อนไว้ข้างหลังคนละเล่ม” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ตอนนี้คือ เพื่อไทยเสียเปรียบ ภูมิใจไทยได้แต้มต่อ เมื่อพรรคเพื่อไทยอ่อนแรงลง โอกาสดึงกระทรวงมหาดไทยกลับมาก็ลดลงตามไปด้วย
ฝ่ายค้านต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะถูกมองว่า ‘ค้านไม่จริง’
ฝ่ายค้านถูกตั้งคำถามว่า ค้านไม่จริง หรือมีดีลลับกับเพื่อไทย? ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นเวทีพิสูจน์ตัวเอง ถ้าฝ่ายค้านทำเต็มที่ ออกหมัดเต็มแรง ก็จะลบข้อครหาไปได้และ อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของฝ่ายค้าน ถ้าทำได้ดี คะแนนอาจเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเดิมที่อยู่ที่ 39% (ธ.ค. 2567 – นิด้าโพล)
ศึกนี้จะสะเทือนถึงขั้นยุบสภาหรือไม่
รศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า การยุบสภา อาจเกิดขึ้นยาก เพราะนักการเมืองไม่มีใครอยากออกจากอำนาจ แต่ถ้า ฝ่ายค้านเปิดโปงทุจริตแบบมีหลักฐาน ก็อาจกดดันให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ยุบสภาได้ “ศึกอภิปรายครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายค้านจะออกหมัดหนักแค่ไหน” เขายังย้อนประวัติศาสตร์การอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตด้วยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียวที่ทำให้เกิดแรงสะเทือนจนพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคพลังธรรมในขณะนั้น ตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้ ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย จากกรณีสปก.4-01 สุดท้ายก็ต้องยุบสภา ต่อมามีประเด็นขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาล มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดการต่อรองกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการอภิปราย เรื่องนี้ก็จบที่การยุบสภาเช่นเดียวกัน ล่าสุดในยุคพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็มีกลุ่มกบฏ คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเกิดจากปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่คล้อยตามการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ทำไม่สำเร็จคว่ำพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ สุดท้ายจบที่ ร.อ.ธรรมนัส ถูกปรับออกจากการเป็นรมว.เกษตรฯ
“สรุปคือยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง แต่ยึดพวกพ้องและอำนาจที่มีร่วมกันมากกว่า”
📌 #ศึกอภิปรายเดือด #เพื่อไทยเสียเปรียบ #ภูมิใจไทยได้แต้มต่อ #ฝ่ายค้านต้องพิสูจน์ตัวเอง