เป็นข่าวใหญ่สะเทือนโลก เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ มีคำสั่งให้ระงับความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครนชั่วคราว จนกว่าจะตัดสินใจว่าผู้นำของยูเครนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อสันติภาพอย่างแท้จริง ทำให้ยุทโธปกรณ์ทางทหารของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้จัดส่งไปให้ยูเครนจะถูกระงับชั่วคราว รวมถึงอาวุธที่กำลังขนส่งอยู่ทั้งหมด หลังจากเกือบ 3 ปีสหรัฐฯ ใช้งบไปหลายพันล้านดอลลาร์กับความช่วยเหลือยูเครน
คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกิริยาจากชาติยุโรปและกลุ่มพันธมิตรนาโต ที่ประกาศจุดยืนตรงข้ามด้วยการประกาศสนับสนุนยูเครน โดยยืนยันส่งความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอย่างแข็งขัน และยังคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรในยุโรปตึงเครียดเพิ่มขึ้น
เพราะไม่ว่าใครก็รู้หลังพี่เบิ้มสหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือทางทหาร พี่เบิ้มรัสเซียก็จะถือโอกาสรุกคืบ และยึดครองพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในโต๊ะเจรจากับยูเครนมากขึ้น ขณะเดียวกันการกดดันทางทหาร และเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประธานาธิบดี เซเลนสกีของยูเครน
หรือนี่เป็นการบีบให้ เซเลนสกีใส่สูทผูกไทกลับไปทำเนียบขาวซูฮกให้ทรัมป์ ประเคนแร่ธาตุในยูเครนให้สหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์ต้องการ หลังจากทั้งคู่ปะทะคารมเดือดกลางทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หรือนี่คือเกมการเมืองโลกที่ต้องการบีบให้ยูเครนเปลี่ยนผู้นำ ตามที่ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตั้งคำถามว่า ควรรอให้เซเลนสกีจะได้สติและกลับสู่โต๊ะเจรจาด้วยความซาบซึ้งในความช่วยเหลือของอเมริกา หรือว่ายูเครนควรหาผู้นำใหม่ดีกว่า
ความไม่แน่นอนในยูเครน จะส่งผลต่อตลาดพลังงานและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินที่ผันผวน อาจกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกของไทย นี่ยังไม่รวมถึงการค้าการลงทุนที่นักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย
คำถามคือรัฐบาลไทยเตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างไร เมื่อเกิดความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์โลกเช่นนี้ แต่อย่างน้อยควรจะรู้ว่าการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ