ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก เศรษฐกิจดูไร้ทิศทาง และนักลงทุนต่างชาติเริ่มถอยห่าง “สิ่งที่อันตรายที่สุด ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่คือการที่รัฐบาลไม่เข้าใจว่ามีปัญหา” ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” โดยระบุว่า “วันนี้ไทยกำลังแพ้ทุกมิติทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต และสิ่งที่อันตรายที่สุดไม่ใช่วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่คือการที่รัฐบาลยังไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
ตลาดหุ้นไทย ภาพสะท้อน” อนาคตที่ไร้อนาคต”
เขาอธิบายว่า ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงหนักไม่ใช่เพราะแค่ปัจจัยระยะสั้น แต่เกิดจากสามปัจจัยใหญ่ที่สะสมมานานและรัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจังวิกฤตที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่ปัญหาระยะสั้น แต่คือผลสะสมจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมหลายอย่างกำลังเป็น” ตะวันตกดิน “โรงกลั่นน้ำมันกำลังถูกลดความสำคัญในโลกที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เคยเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย วันนี้กำลังเผชิญคู่แข่งรายใหญ่อย่างจีน ที่สามารถผลิตได้เองในราคาถูกและมีประสิทธิภาพมากกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เองก็ต้องปรับตัวรับกับคลื่นของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และอาจไม่ต้องพึ่งพาฐานการผลิตในไทยมากเหมือนเดิม
โลกเปลี่ยน ไทยยังติดอยู่กับโมเดลเก่า!
ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือความหย่อนยานของธรรมาภิบาลในตลาดทุน บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากกำลังเผชิญข้อครหาว่าผู้บริหารใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นหุ้น มากกว่าการพัฒนาองค์กร บางรายมีประวัติฉ้อโกง หรือใช้บริษัทเป็นเครื่องมือในการสร้างกำไรส่วนตัวมากกว่าการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็สั่นคลอน” ถ้าตลาดหุ้นไม่ใช่ที่ลงทุน แต่เป็นการเก็งกำไรอย่างฉาบฉวย ก็จะไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป มีการศึกษาของเจพีมอร์แนและกสิกรไทยที่สะท้อนภาพให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับความเสี่ยงแล้วผลตอบแทนของไทยคุ้มหรือไม่ คำตอบออกมาว่าไม่คุ้ม ต้องดันให้หุ้นไทยน่าลงทุนเมื่อเทียบกับต่างประเทศ”
สงครามเศรษฐกิจมาแล้ว แต่ไทยยังไร้แผนรับมือ!
ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือโลกเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไทยยังไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นรูปธรรม การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจหมายถึงกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ขณะที่จีนเองก็กำลังขยายอิทธิพลไปในหลายอุตสาหกรรม กดดันให้มาร์จิ้นของธุรกิจลดลง และทำให้การแข่งขันยิ่งดุเดือด “เหมือนเค้กในตลาดโลกลดลง หรือโตช้า การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากธุรกิจจีนเข้ามาแทรกแซงในหลายสนามแข่งขัน ซึ่งเท่ากับมาร์จิ้นจะบางลง ผลตอบแทนก็จะต่ำลง และต้องดูว่าแข่งขันอย่างเป็นธรรมหรือไม่ด้วย สำคัญที่สุดคือเรื่องความเชื่อมั่น เพราะคนไม่แน่ใจว่าโลกจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ ตลาดหุ้นคนก็ไม่แน่ใจว่ายังเป็นแหล่งที่สามารถลงทุนร่วมกันโดยไม่ต้องทำธุรกิจเองหรือไม่”
รัฐบาลมองอนาคตแบบไหน? แก้เศรษฐกิจหรือคิดแค่เอาตัวรอดทางการเมือง?
เมื่อปัจจัยลบซ้อนกันหลายชั้น คำถามสำคัญคือรัฐบาลมีแผนรับมือหรือไม่ ดร.นณริฏ ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ กำลังเร่งปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลไทยกลับยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ นโยบายที่ถูกนำเสนอหลายอย่างยังเป็นการพยายามแก้ไขอดีต เช่น การส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่ควรจะต้องทำมาตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว หรือการพูดถึงการพัฒนาดิจิทัล ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ AI ที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก
“วันนี้รัฐบาลกำลังสุมหัวคิดกันอยู่ว่าจะรับมือกับอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร แต่ไม่มีใครพูดถึงการรับมือเศรษฐกิจที่รอการแก้ไข” ดร.นณริฏ กล่าว ก่อนจะเสริมว่า ปัญหาของไทยตอนนี้คือ การที่เศรษฐกิจถูกทำให้เป็นเรื่องรอง ขณะที่การเมืองกลายเป็นเรื่องหลัก รัฐบาลพยายามสร้างมาตรการระยะสั้นที่ดูเหมือนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการประคองสถานการณ์ เช่น การใช้กองทุนวายุภักษ์เพื่อพยุงตลาดหุ้น การดึงกองทุน LTF กลับมา ซึ่งอาจช่วยได้ระยะสั้น แต่ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง” เหมือนการฉีดสเตียรอยด์ กระตุ้นระยะสั้น แต่ไม่ได้ทำให้แข็งแรงขึ้นจริง”
เรากำลังจมน้ำ แต่รัฐบาลยังคิดว่าไหวอยู่!
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ เมื่อไม่มีแผนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ก็ต้องหาทางรอดแบบฉาบฉวย ดร.นณริฏ มองว่า รัฐบาลกำลังเลือกนโยบายที่ง่าย และให้ผลเร็ว เช่น การเปิดกาสิโน การส่งเสริมธุรกิจสุราเสรี หรือแม้แต่การพนันออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศได้จริง แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาสังคมระยะยาวที่อาจควบคุมไม่ได้” รัฐบาลเลือกทางออกที่ง่าย เร็ว แต่ไม่ยั่งยืน ได้เงิน แล้วผลกระทบทางสังคมล่ะ”
รัฐไม่เข้าใจปัญหาคืออันตรายที่สุด!
เมื่อถูกถามถึงคำสัมภาษณ์ของ รมช.คลัง ที่กล่าวว่า คนฉลาดจะมองพื้นฐานเศรษฐกิจและมองสิ่งนี้เป็นโอกาส คนไม่ฉลาดจะตื่นเต้นไปกับภาวะตลาดหุ้นตก ดร.นณริฏ ตอบทันทีว่า “นี่คือตัวอย่างของทัศนคติที่อันตรายที่สุด เพราะก่อนจะแก้ไขปัญหา เราต้องรู้ก่อนว่ามีปัญหา” เขาย้ำว่า การมองข้ามวิกฤต หรือพยายามบอกว่ามันไม่ใช่ปัญหา คือสิ่งที่อันตรายกว่าวิกฤตเสียอีก
“ถ้าคุณไม่คิดว่าป่วย คุณก็จะใช้ชีวิตแบบปกติ ทั้งที่ร่างกายกำลังแย่ลง นี่คือสิ่งที่อันตรายที่สุด”
ไทยแพ้ทุกช่วงเวลา ถ้ายังไม่มีแผนจริงจังจะจมลึกกว่าเดิม!
สุดท้าย เมื่อถูกถามว่า มองเห็นอนาคตของประเทศไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้อย่างไร คำตอบของดร.นณริฏ ชัดเจน “ไม่เห็น” เพราะเมื่อไม่เห็นอนาคต ก็ต้องเริ่มหาทางรอด เขาเปรียบเทียบว่า ตอนนี้ไทยเหมือนกำลังจะจมน้ำ แต่เรากลับเลือกที่จะคว้าอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือ แทนที่จะมองหาทางออกที่ยั่งยืน
“พายุเศรษฐกิจลูกใหญ่กำลังมา ทรัมป์กำลังกลับมา จีนกำลังบุก AI กำลังเปลี่ยนโลก แต่รัฐบาลไทยยังคิดแก้ปัญหาแบบปี 2000 และหาทางรอดแบบปี 1990”
“นี่คือสัญญาณอันตรายว่า เรากำลังแพ้ทุกช่วงเวลา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต”