การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมคำประกาศว่า “จะดับไฟใต้ให้ได้ภายใน 1 ปี” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เพราะเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบกลับปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไฟใต้ยังลุกโชน—ความรุนแรงปะทุหลังทักษิณลงพื้นที่
หลังจากอดีตนายกฯ เดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเกิดเหตุคาร์บอมก่อนเวลที่เครื่องบินของ “ทักษิณ” จะถึงท่าอากาศยานจังหวัดนราธิวาสเพียงชั่วโมงเศษแล้ว หลังจากนั้น ความรุนแรงกลับปะทุหนักขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งถือเป็นสามจังหวัดที่เผชิญปัญหาความไม่สงบที่รุนแรงขึ้นมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นหลังจากทักษิณลงพื้นที่
5 มีนาคม 2568 – ไประเบิดยะลา!
• 19.15 น. คนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ ขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ใส่ป้อมตำรวจ บริเวณถนนพาดรถไฟ เขตเทศบาลนครยะลา
• แรงระเบิดทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 6 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ขับขี่รถผ่านบริเวณดังกล่าว
• เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่
8 มีนาคม 2568 – คาร์บอมบ์ – ระเบิดป่วนใต้ 5 จุดใหญ่
นราธิวาส
• 19.10 น. คนร้ายใช้คาร์บอมบ์ โจมตีป้อม อส. หน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 10 คน
• 19.28 น. คนร้ายลอบวางระเบิดริมรางรถไฟ ถนนอรกานต์
• 19.30 น. ระเบิดป่วนหน้าห้าง Big C สุไหงโก-ลก
• 19.52 น. ระเบิดเสาไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟดับบางพื้นที่
ปัตตานี
• 18.00 น. ลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อย ทพ. 4411 ในเขตอำเภอสายบุรี
• 23.20 น. ลอบวางระเบิด! ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย
10 มีนาคม 2568
ยะลา
06.55 น.ปิดกั้นเส้นทาง หลังพบวัตถุต้องสงสัยผูกติดกับเสาไฟฟ้า ทางไป สภ.โกตาบารู ก่อนถึง รร.รั้วตะวัน หมู่ 7 ตำบลบุดี อ.เมือง จ.ยะลา
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง และยิ่งทวีความซับซ้อน หลังจากการลงพื้นที่ของ “ทักษิณ”
“ดับไฟใต้ใน 1 ปี” หรือซ้ำรอย “โจรกระจอก”?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ทักษิณเคยกล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ว่า “เป็นแค่โจรกระจอก” แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ไฟใต้ที่ปะทุขึ้นรุนแรงจนกลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี
และครั้งนี้ ทักษิณกลับมาอีกครั้ง พร้อมคำมั่นว่า “จะดับไฟใต้ให้ได้ภายใน 1 ปี” แต่คำถามสำคัญคือ รัฐบาลชุดนี้มีแนวทางที่ชัดเจนและแตกต่างจาก 20 ปีก่อนหรือไม่? หรือจะเป็นเพียงแค่คำพูดที่หวังสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองโดยไม่มีแผนรองรับ?
คำถามที่รัฐบาลต้องตอบคือ รัฐบาลมีแนวทางใหม่อะไรที่ต่างจาก 20 ปีก่อน? การใช้กำลังปราบปรามอย่างหนักในยุครัฐบาลทักษิณ เคยทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น จะมีการแก้ปัญหาแบบใหม่หรือไม่? แผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ มีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการประกาศนโยบายลอย ๆ หรือไม่? ทำไมหลังลงพื้นที่ ความรุนแรงกลับปะทุหนักขึ้น?เป็นเพราะ การลงพื้นที่ของทักษิณกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือไม่? หรือเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการแสดงแสนยานุภาพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ยอมรับแนวทางที่ทักษิณกำลังเดินอยู่ในขณะนี้? นโยบายดับไฟใต้ที่แท้จริงคืออะไร? ทักษิณและรัฐบาลชุดนี้ ยังคงมองปัญหานี้เป็นแค่ “โจรกระจอก” หรือไม่? มีแผนที่ชัดเจนหรือไม่ว่า จะเจรจา สร้างสันติภาพ หรือจะใช้กำลังทางทหารเหมือนเดิม?
ไฟใต้รอบใหม่ : แค่กระพือชั่วคราว หรือจะปะทุหนักกว่าเดิม?
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ทำให้เกิดข้อกังวลว่าความรุนแรงอาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ฝ่ายรัฐ อาจพยายามเพิ่มมาตรการทางความมั่นคง โดยเฉพาะการใช้กำลังควบคุมพื้นที่มากขึ้นขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบ อาจมองว่าการลงพื้นที่ของนายทักษิณคือการ ท้าทายอำนาจของพวกเขา ทำให้เกิดปฏิบัติการตอบโต้รุนแรง
บทเรียนที่ทักษิณเคยได้รับ แต่ดูเหมือนจะไม่เคยได้รับการถอดบทเรียน
20 ปีผ่านไป แต่รอยแผลของชายแดนใต้ยังไม่จางหาย คำประกาศกร้าวในอดีตว่า “โจรกระจอก” ไปจนถึงเหตุการณ์ “กรือเซะ-ตากใบ” ได้ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย และวันนี้ การกลับมาพร้อมคำมั่นว่า “จะดับไฟใต้ใน 1 ปี” อาจเป็นเพียงวาทกรรมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง
คำขออภัยที่กล่าวระหว่างลงพื้นที่ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการอภัย เพราะปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เพียง “คำพูด” แต่คือ “ความเชื่อมั่น” ที่หายไป ความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปี ไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่จะลืมง่าย ๆ
ทักษิณอาจอยากเข้ามามีบทบาทเพื่อล้างบาปของตัวเอง แต่กลายเป็นว่า คนที่ต้องรับกรรมแทนคือประชาชน ทุกครั้งที่เกิดเหตุระเบิด ทุกครั้งที่มีเสียงปืน คนที่เจ็บและล้มตายไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็น เจ้าหน้าที่ ผู้บริสุทธิ์ และครอบครัวที่ต้องอยู่กับความหวาดกลัวไม่รู้จบ
หากการกลับมาของทักษิณ ไม่ได้มาพร้อมกับบทเรียนที่แท้จริง และไม่มีแนวทางที่ต่างจากอดีต ไฟใต้จะยังคงลุกไหม้ และผู้ที่ต้องชดใช้จะไม่ใช่เขา…แต่คือประชาชนในพื้นที่ ที่ยังต้องทนทุกข์กับความไม่แน่นอนนี้ต่อไป
ทักษิณและรัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า “ต้นทุนความผิดพลาดทางการเมือง” ไม่ได้ตกอยู่ที่ “นักการเมือง แต่คือ ”ประชาชน“ ที่ต้องเป็นฝ่ายแบกรับ