อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ในรายการ WATCHDOG ถึงคดีที่ TRUEID ฟ้องร้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. หลัง กสทช. ออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการโทรทัศน์ 127 ราย โดยระบุชื่อ TRUEID ว่า ละเมิดกฎ “มัสต์แครี” ซึ่งกลายเป็นศึกทางกฎหมายที่สะเทือนวงการสื่อ
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ลำดับเหตุการณ์ว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากคำร้องเรียนของผู้บริโภคที่พบว่า TRUEID นำรายการจากทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ พร้อมแทรกโฆษณาเพิ่ม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการ ดัดแปลงเนื้อหา ผิดหลักมัสต์แครี ขณะที่ TRUEID อ้างว่าตัวเองเป็น OTT (Over-the-Top) ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช.
ที่ประชุม อนุกรรมการฯ ที่ อ.พิรงรองเป็นประธาน จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการ 127 ราย เพื่อให้ตรวจสอบการนำเนื้อหาไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่หนังสือฉบับแรกไม่มีการระบุชื่อ TRUEID ทำให้ผู้ประกอบการ ไม่เข้าใจเนื้อหาชัดเจน กสทช. จึงประชุมใหม่ และมีการออกหนังสือฉบับที่สอง โดยระบุชื่อ TRUEID ซึ่งผู้ลงนามในหนังสือคือ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ไม่ใช่ อ.พิรงรอง
TRUEID จึงฟ้องผู้ลงนามในหนังสือก่อน แต่คดีถูกยกฟ้อง และต่อมาฟ้อง อ.พิรงรอง โดยศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
“ตลบหลัง-ล้มยักษ์” กลั่นแกล้งจริงหรือ?
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ระบุว่า การพิจารณาโทษของศาล ที่ชี้ว่า อ.พิรงรองมีความผิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ
- กสทช. ไม่มีอำนาจกำกับ TRUEID เพราะเป็น OTT
แม้ TRUEID จะอยู่นอกเหนือการกำกับของ กสทช. แต่ กสทช. มีอำนาจดูแลผู้บริโภคและกำกับให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม TRUEID นำเนื้อหาทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและแทรกโฆษณา ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ขอใบอนุญาต IPTV เพื่อนำรายการช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ และไม่มีการดัดแปลงเนื้อหาหรือเพิ่มโฆษณาแต่อย่างใด
- คำว่า “ตลบหลัง” และ “ล้มยักษ์” ถูกตีความว่าเป็นการกลั่นแกล้ง อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ อธิบายว่า คำว่าตลบหลัง น่าจะมาจากการที่ อนุกรรมการฯ ที่อ.พิรงรองเป็นประธานทราบดีว่าไม่มีอำนาจกำกับ OTT แต่ยังมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ จึงสามารถให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือไปให้ตรวจสอบได้ และที่มีการระบุชื่อ TRUEID ในหนังสือฉบับที่สอง ก็เพราะผู้ประกอบการฯ ไม่เข้าใจเนื้อหาในหนังสือที่ส่งไปครั้งแรก อีกทั้งหลังมีหนังสือไปที่ TRUEID อ้างว่าเสียหายนั้น จากคำฟ้องของ TRUEID มีการอ้างถึงสองบริษัทในเครือเดียวกันว่าลังเลที่จะให้นำคอนเทนต์ไปเผยแพร่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการระงับแต่อย่างใด จึงน่าสนใจว่าเกิดความเสียหายทางธุรกิจอย่างไร แต่อาจอ้างถึงเรื่องความเสียหายด้านชื่อเสียง
ส่วนคำว่า “ล้มยักษ์” ทราบว่า อ.พิรงรอง พูดตอนการประชุมใกล้จบลงแล้ว และผ่านการพิจารณาวาระของ TRUEID ไปแล้ว มีการพิจารณาวาระอื่นอีกราว 4-5 วาระ ก่อนการปิดประชุมจึงได้ระบุว่า การประชุมครั้งต่อไปให้เตรียมตัวให้ดีเพราะจะมีการล้มยักษ์ ซึ่งก็อยู่ที่การตีความ ศาลฯ ตีความว่านี่คือเจตนากลั่นแกล้ง แต่ก็มีคนมองว่าถ้าผู้พูด พูดในบริบทที่ว่ากำลังสู้กับคนที่มีอำนาจจึงใช้คำว่า “ยักษ์” ถ้าจะเอาชนะให้ได้ก็เปรียบเหมือนการล้มยักษ์เป็นการรักษาระเบียบไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่ศาลฯ มองต่างออกไปว่านี่คือการกลั่นแกล้งจึงมีคำตัดสินลงโทษ
“อภิสิทธิ์ งง คนลงนามรอด คนไม่ลงนามติดคุก?”
3 ประเด็นเรื่องเอกสารเท็จ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ บอกว่า นึกภาพไม่ออกว่าอยู่ดี ๆ อ.พิรงรอง จะไปเอารายงานการประชุมมาแก้ไม่ให้ตรงกับข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งใครทำไม และในความเป็นจริงการแก้ไขรายงานการประชุมเกิดขึ้นเป็นปกติ คน ๆ เดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากต้องได้รับการรับรองจากอนุกรรมการฯ ทั้งคณะ ถ้าบอกว่าการแก้ไขรายงานการประชุมเป็นเท็จ คนที่รับผิดชอบก็ควรเป็นอนุกรรมการฯ ทั้งคณะ ไม่ใช่ อ.พิรงรองคนเดียวหรือไม่?
4 การซัดทอดว่า อ.พิรงรองสั่งการ เพราะผู้ลงนามอ้างว่า มีบุคคลอื่นแจ้งเธอว่า อ.พิรงรองสั่งการมา แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ที่ถูกอ้างถึงว่า ไม่มีการสั่งการจาก อ.พิรงรอง ในฐานะมีประสบการณ์การทำงานขององค์กรภาครัฐ เราเคยเห็นข้าราชการจำนวนไม่น้อย ถูกนักการเมืองสั่งให้ทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในหน้าที่ของตัวเอง คนพวกนี้ถูกลงโทษหมด แต่นักการเมืองที่สั่งรอด เพราะไม่มีหลักฐาน
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คนไม่ลงนามกลายเป็นคนผิด คนลงนามยกฟ้อง ต่อไปใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างาไร ผมก็งงเหมือนกัน และค่อนข้างแปลกใจว่าในแง่สายบังคับบัญชา อ.พิรงรองแม้จะเป็นประธานอนุกรรมการฯ จะไปบังคับเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร ที่สำคัญในการพิจารณาคดีอ.พิรงรอง ก็มีการนำเสนอข้อมูลเพราะมีคนให้การด้วยว่า ไม่มีการสั่งจาก อ.พิรงรอง”
“อ.พิรงรอง ได้อะไรจากเรื่องนี้? ถ้าอยู่เฉย ๆ ก็คงไม่ต้องเดือดร้อน”
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ตั้งคำถามสำคัญว่า อ.พิรงรองมีเหตุจูงใจอะไรในการทำเรื่องนี้? ถ้าเธอเลือกที่จะ “อยู่เฉย ๆ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน” และอ้างว่าไม่มีอำนาจกับ OTT ก็จะไม่ถูกฟ้อง ไม่ต้องรับโทษ และไม่ต้องมีศัตรู แต่สิ่งที่เธอทำ คือ การปกป้องสิทธิผู้บริโภคและรักษากฎกติกาของวงการสื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.
“โทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาดูรุนแรงเกินไป จนทำให้สังคมตกใจและตั้งคำถามว่า ถ้าแบบนี้ ใครจะกล้าทำอะไร?”
“ศึก TRUEID – กสทช. จะเป็นจุดเปลี่ยนของวงการโทรคมนาคม?”
คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ และศาลฯ อาจมองต่างจากศาลชั้นต้น แต่กรณีนี้สะท้อนปัญหาของ การกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมในยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมนับวันจะใหญ่ขึ้น มีลักษณะผูกขาดมากขึ้น ทั้งการเป็นเจ้าของเครือข่ายเทคโนโลยี อาจมีการกีดกันหรือไม่กีดกันการเข้าถึง เกิดคำถามว่า ผู้มีหน้าที่กำกับ กำกับได้จริงหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา