ประเทศไทยกำลังเผชิญกับนโยบายที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง “บุหรี่ไฟฟ้า” และทิศทางที่รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร กำลังเดินหน้าอยู่
จาก Yes สู่ No… นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าที่กลับตาลปัตร
ย้อนกลับไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เคยตอบคำถามเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจนว่า “Yes” โดยส่งสัญญาณไปยังประชาชนว่านโยบายนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลก
แต่พอได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทิศทางกลับเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง รัฐบาลเดินหน้า “ไล่ปราบ” บุหรี่ไฟฟ้าแบบเต็มกำลัง ตำรวจออกจับกุมทั่วประเทศ มีการระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย และต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกว่านั้นคือ “ภายในรัฐสภาเอง” กลับมี ส.ส.หญิงชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นว่าเล่น ราวกับกฎหมายที่พวกเขาสนับสนุนเอง ไม่มีผลต่อพฤติกรรมของพวกเขาเลย
ทิศทางแบบไหนที่นักการเมืองกำลังส่งถึงสังคม?
ความย้อนแย้งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า แต่มันสะท้อนถึง “สองมาตรฐาน” (Double Standard) ที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการเมืองไทย รัฐบาลส่งสัญญาณห้ามประชาชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า… แต่ ส.ส. กลับสูบกันเองในสภา รัฐบาลบอกว่าอบายมุขเป็นภัยต่อสังคม… แต่กลับผลักดันกาสิโน ซึ่งเป็นสถานที่อโคจรให้ถูกกฎหมาย รัฐบาลบอกว่าห่วงสุขภาพประชาชน… แต่กลับมีนโยบายเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุตสาหกรรมการพนัน
สิ่งเหล่านี้กำลังสร้างภาพลักษณ์ให้กับนักการเมืองไทยว่า “พวกเขาเป็นแบบอย่างให้สังคมไม่ได้” หรือไม่?
บุหรี่ไฟฟ้าผิด แต่กาสิโนถูก? นี่คือภาพการเมืองไทย
น่าสนใจว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าไล่จับบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างเรื่องสุขภาพของประชาชน
แต่ในเวลาเดียวกัน กลับพยายามผลักดันกฎหมายให้ “กาสิโน” และ “สถานบันเทิงครบวงจร” ถูกกฎหมาย
นี่คือมาตรฐานแบบไหน? ถ้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยต่อสุขภาพ แล้วการพนันไม่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจครอบครัวหรือ? ถ้าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อเยาวชน แล้วการเปิดบาร์เหล้าแบบเสรีไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมหรือ? รัฐบาลกำลังเดินเกมทางนโยบายที่ย้อนแย้ง ในขณะที่บอกว่า “สิ่งนี้เป็นอันตราย” แต่ก็เดินหน้าสนับสนุน “สิ่งที่อันตรายพอ ๆ กัน หรือมากกว่า”
นักการเมืองควรเป็นแบบอย่างให้สังคมหรือไม่?
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “นักการเมืองต้องเป็นแบบอย่างให้ประชาชนไหม?”
หรือ “นักการเมืองมีสิทธิใช้ชีวิตส่วนตัวแบบที่ต้องการหรือไม่?”
แน่นอนว่า นักการเมืองก็เป็นมนุษย์ มีสิทธิใช้ชีวิตตามปกติ
แต่ปัญหาคือ พวกเขาเป็นคนออกกฎหมาย กำหนดทิศทางของสังคม และมีบทบาทในการวางมาตรฐานทางศีลธรรมในประเทศ
ถ้าพวกเขาเองยังทำไม่ได้ ประชาชนจะเชื่อมั่นในกฎหมายได้อย่างไร? ถ้าพวกเขาออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ตัวเองสูบกันเอง จะเรียกว่าความจริงใจในการบริหารประเทศได้หรือไม่?
สุดท้ายแล้ว…รัฐบาลต้องการอะไร?
การเล่นเกมนโยบายแบบ “สองมาตรฐาน” กำลังบ่อนทำลาย “ความเชื่อมั่นของประชาชน”
ถ้ารัฐบาลต้องการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ ต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน รวมถึงนักการเมืองเอง ถ้ารัฐบาลต้องการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ ไม่ใช่แค่ปราบ ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะเยาวชนไทยปอดหาย ตายเร็วขึ้นแบบที่เรียกว่ารัฐบาลจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
ย้ำอีกครั้งว่า…หาก บุหรี่ไฟฟ้าผิด ส.ส.ก็ไม่ควรสูบ ใครสูบ หรือพกเข้าสภาฯ ต้องจัดการอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง…หาก รัฐบาลจะปราบอบายมุข ก็ควรหยุดทำให้กาสิโน-พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย
เพราะถ้ารัฐบาลยังคงสร้างสองมาตรฐาน อาจถูกมองได้ว่าไม่ต่างจากรัฐบาลที่ไร้หลักการ มีแต่หลักกู เพื่อประโยชน์กูและพวกกู