ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ปัญหาค่าไฟแพง ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น ทุกครั้งที่ประชาชนเดือดร้อน เราได้ยินแต่คำว่า “ตรึงราคา” แต่ไม่เคยได้ยินว่า จะแก้โครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างไร
ล่าสุดก็เช่นกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับงวด พ.ค.-ส.ค. 2568 โดยมี 3 แนวทางให้พิจารณา ซึ่งอาจส่งผลให้ ค่าไฟพุ่งแตะ 5.16 บาทต่อหน่วย หรือคงที่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย
“ปรับขึ้น หรือ คงที่?” – 3 แนวทางค่าไฟที่ประชาชนต้องจับตา
กรณีที่ 1: ค่าไฟสูงสุด 5.16 บาท/หน่วย (+24%)
- ปรับค่าเอฟที 137.39 สตางค์/หน่วย
- ชดเชยต้นทุนคงค้างของ กฟผ. และ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน คืนทั้งหมด
- ค่าไฟเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 4.15 → 5.16 บาท/หน่วย
กรณีที่ 2: ค่าไฟ 4.95 บาท/หน่วย (+19%)
- ปรับค่าเอฟที 116.37 สตางค์/หน่วย
- ชดเชยต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด แต่ไม่รวมส่วนต่างราคาก๊าซ
- ค่าไฟเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 4.15 → 4.95 บาท/หน่วย
กรณีที่ 3: ตรึงค่าไฟเท่าเดิม 4.15 บาท/หน่วย
- ค่าเอฟทีคงที่ 36.72 สตางค์/หน่วย
- ทยอยชำระคืนหนี้ กฟผ. แทนการจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว
- ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระเพิ่มในทันที
โดยกกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2568 ก่อนสรุปและประกาศอัตราค่าไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
โครงสร้างค่าไฟฟ้า—ปัญหาตัวจริงที่ไม่มีใครกล้ารื้อ
ค่าไฟที่แพงขึ้นทุกปี ไม่ได้เกิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยว และค่าใช้จ่ายแฝงที่ถูกผลักภาระให้ประชาชน เช่น
Adder – ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่บวกเพิ่ม ค่าไฟของประชาชนมี Adder หรือ ค่าชดเชยให้พลังงานหมุนเวียน อยู่ด้วย ซึ่งถูกออกแบบให้ส่งเสริมพลังงานสะอาด แต่ประชาชนกลับต้องเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น
ค่าพร้อมจ่าย – จ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าสำรอง แม้ไม่ได้ใช้ไฟ
ระบบของประเทศไทยใช้ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบมีสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งสูงถึง 40-50% ของความต้องการใช้จริง หมายความว่าเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินความจำเป็น แต่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟเพื่อ “จอง” ไฟฟ้าที่อาจไม่ได้ใช้จริง
โครงสร้างผูกขาด – ประชาชนไม่มีทางเลือก
โครงสร้างพลังงานของไทย ผูกขาดอยู่กับไม่กี่บริษัท ทำให้ราคาถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่ ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกซื้อไฟจากแหล่งที่ถูกกว่า
ตัวอย่างต่างประเทศ: ทำไมประเทศอื่นลดค่าไฟได้ แต่ไทยทำไม่ได้?
เยอรมนี & เดนมาร์ก – ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานโดยเปิดตลาดเสรีให้ประชาชนเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้า ผลลัพธ์? ราคาค่าไฟลดลงและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม
สหรัฐอเมริกา – บางรัฐเปิดโอกาสให้มี Community Solar หรือชุมชนร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ค่าไฟในชุมชนถูกลง
จีน – ควบคุมโครงสร้างพลังงานให้รัฐเป็นผู้กำหนดราคาขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระหนักเกินไป
แล้วไทยล่ะ? มัวแต่พูดเรื่อง “ตรึงราคา” แต่ไม่ยอมรื้อโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า เราวนลูปแบบนี้มานานแค่ไหนแล้ว? เบื่อกันบ้างหรือยัง?
“3.70 บาท” ที่ทักษิณประกาศ จะมากี่โมง?
ทักษิณ ประกาศว่าค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และรัฐบาลออกมารับลูก ก่อนทุกอย่างจะหายไปกับสายลม ก่อนหน้านี้ กกพ.ทำท่าแข็งขันระบุจะทำหนังสือถึงนายกฯ ทบทวน Adder-Fit ซึ่งจะช่วยหั่นค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย แต่กลับถูกติดเบรคจาก “พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน ที่ออกมาระบุว่า “ทำไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะสัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุกห้าปี ทำให้ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทำไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากำลังศึกษาว่า มีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทำไม่ได้” (สัมภาษณ์ 15 ก.พ.68)
สุดท้ายเรื่องราวจบลงไปแบบนั้น โดยไม่มีการขยายความเพิ่ม ปล่อยทุกอย่างเงียบหายไป โดยรัฐบาลยังไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าแบบนี้ไม่ได้แล้วแบบไหนจะได้ จะลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70บาท/หน่วยได้กี่โมง?
ค่าไฟถูก ไม่ใช่เรื่องของเวทมนตร์ แต่มันต้องมาจากการรื้อโครงสร้างที่ผิดเพี้ยน
แต่แทนที่รัฐบาลจะจริงจังกับปัญหานี้ กลับเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทกับ “บ่อนกาสิโน” ที่ไม่มีในนโยบายหาเสียง และยังเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการ “ลุกฮือ “ต่อต้านของประชาชนด้วย
ไฟฟ้า = ปัจจัยพื้นฐาน กาสิโน = อบายมุข
ไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องใช้ การทำให้ไฟฟ้ามีราคาสมเหตุสมผล คือการช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แต่รัฐบาลนี้กลับเลือกทุ่มเทให้กับ “กาสิโน” มากกว่าการลดค่าไฟฟ้า
“คนไทยอยากได้ค่าไฟถูก ไม่ได้อยากได้บ่อนพนัน”
“อย่าปล่อยให้รัฐบาลทำให้ค่าไฟเป็นภาระประชาชน แต่ทำให้การพนันเป็นโอกาสของนายทุน”
ถึงเวลาถามรัฐบาล: ลดค่าไฟได้จริง หรือแค่ปาหี่ทางการเมือง?
อยากจ่ายค่าไฟถูก หรืออยากให้รัฐบาลสร้างบ่อน? คำตอบอยู่ที่คุณ!