ทุกปีเมื่อใกล้ถึง วันแรงงาน 1 พฤษภาคม เสียงเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง และปีนี้ รัฐบาลก็ประกาศอีกหนว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต้องเกิดขึ้นแน่นอน
แต่ปัญหาคือ… ปีที่แล้วก็พูดแบบนี้ แล้วมันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า?
แล้วปีนี้ แรงงานจะได้ขึ้นค่าแรงจริงไหม? หรือจะเป็นแค่คำสัญญาที่วนซ้ำเดิม?
ย้อนดูค่าแรงขั้นต่ำปี 2567: ได้ขึ้นเท่าไหร่กันแน่?
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเพิ่มขึ้นในอัตรา 7 – 55 บาทต่อวัน (เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9%) ซึ่งแบ่งออกเป็น 17 อัตรา ทั่วประเทศ
จังหวัดที่ได้ค่าแรง 400 บาท/วัน
- ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และอำเภอเกาะสมุย เท่านั้น
จังหวัดอื่น ๆ ได้ขึ้นนิดเดียว
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มแค่ 9 บาท
- 67 จังหวัดที่เหลือ เพิ่มแค่ 7 บาท
แล้วค่าแรง 400 บาทที่หาเสียงไว้ล่ะ?
- คำสัญญา “ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ” กลายเป็นจริงแค่ใน 4 จังหวัด กับ 1 อำเภอ
- คนที่เหลืออีก 70 จังหวัดต้องทนรับค่าแรงที่ขึ้นแค่หลักหน่วย
แล้วปีนี้จะซ้ำรอยเดิมอีกไหม?
รัฐมนตรีแรงงานยืนยัน “ปีนี้ 400 บาทต้องมา” – แต่จะมาได้จริงหรือ?
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งวันนี้ลดความ “มั่นหน้า” ไปเยอะจากปีที่แล้วเคยประกาศว่า “ค่าแรง 400 บาททั่วประเทศต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้ และจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2567” แต่สุดท้ายทำไม่ได้ เสียรังวัดไป เพราะต้องเลื่อนประชุมไตรภาคีไปถึงสองรอบจากปัญหาองค์ประชุมล่ม สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ 400 บาท แค่ 4 จังหวัดกับ 1 อำเภอ
ล่าสุด พิพัฒน์ บอกว่า จะพยายามให้ค่าแรงขึ้น 400 บาทในปีนี้ ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ โพสต์ข้อความระบุ ได้รับรายงานจาก พิพัฒน์ เรื่องแผนการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2568 โดยในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันนี้ (12 มี.ค.68) จะมีแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงก็คงเหมือนเดิม ไม่ได้เท่ากันในทุกพื้นที่
ดังนั้นที่หาเสียงกันไว้ไม่ว่าจะเป็น 400 บาททั่วประเทศ หรือ 600 บาททั่วประเทศ ของพรรคเพื่อไทย ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยากเต็มที
600 บาททั่วประเทศ ภายในปี 2570 ทำได้มั้ย?
ตอนนี้ค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เกือบสองปีแล้วรัฐบาลเพื่อไทยยังทำไม่ได้ แล้วคำสัญญาค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 จะเป็นไปได้หรือ?
จากข้อมูลการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า
- ปี 2566 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 323-354 บาท/วัน
- ปี 2567 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 330-400 บาท/วัน
- ปี 2568 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 337-400 บาท/วัน
หากต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน ภายในปี 2570 จะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่? เป็นคำถามชวนคิด และเมื่อลองคิดโดยำคนวณจากค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 400 บาท (มีแค่ 4 จ.กับ 1 อ.) เท่ากับต้องเพิ่มอีก 200 บาทจึงจะปีนป่ายไปถึงเป้าหมาย นั่นหมายถึงว่า ภายในสองปีจะต้องปรับค่าแรงปีละ 100 บาท ซึ่งไม่ใช่เป็นไปได้ยาก แต่น่าจะเป็นไปไม่ได้มากกว่า เว้นแต่ว่าจะมีการปรับโครงสร้างเพิ่ม หรือมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็น เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ กว่าค่าแรงจะไปถึง 600 บาทได้ น่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6-7 ปี คือ ปี 2574-2575 ไม่ใช่ปี 2570
แล้วพรรคเพื่อไทย จะรับผิดชอบต่อการหาเสียงที่ไม่เป็นจริงอย่างไร?
ค่าแรงขั้นต่ำ ใครเป็นคนกำหนด
การขึ้นค่าแรงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ต้องผ่าน “คณะกรรมการไตรภาคี” ซึ่งมี ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง
หมายความว่า…ต่อให้รัฐบาลอยากขึ้นค่าแรง แต่นายจ้างไม่เห็นด้วย ก็อาจไม่ได้ขึ้นทันที ฝั่งธุรกิจจะยกข้ออ้างว่า แบกรับต้นทุนไม่ไหว อาจต้องปลดคนงาน โดยจะเห็นได้จากมีความพยายามดึงดันจนฝ่ายการเมืองมาแล้วแต่ไปไม่รอดองค์ประชุมล่ม ก็กลายเป็นเรือล่มปากอ่าว “คนกำหนดเกมค่าแรงจึงไม่ใช่นักการเมือง”
ควรเลิกใช้ค่าแรงเป็นเครื่องมือหาเสียงได้แล้วหรือยัง?
ปีที่แล้วก็พูดแบบนี้ แต่ค่าแรงขึ้นได้ไม่ทั่วประเทศ
ปีนี้บอกว่า “จะทำให้ได้” แต่กระบวนการยังติดปัญหาเดิม ๆ
ปี 2570 หาเสียงค่าแรง 600 บาท แต่ไม่มีแผน…ไม่มีทางไปถึงเป้าหมาย
สุดท้าย…ค่าแรงขั้นต่ำ แค่เครื่องมือหาเสียงทางการเมือง
สุดท้าย…แรงงานต้องดิ้นรนกันเอง ขณะที่รัฐบาลแจกฉ่ำ ปั่นบ่อนกาสิโน แต่ค่าแรงขั้นต่ำเป็นได้แค่ “ลมปาก”
ถ้านักการเมืองไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจ 100% แล้วจะเอาค่าแรงมาหาเสียงทุกปีทำไม?
แรงงานต้องการ “ค่าแรงที่เป็นจริง” ไม่ใช่ “ตัวเลขที่ใช้หาเสียง”