11 สิงหาคม 2567 – ชื่อของ จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ หรือ “ต้นกล้า” ส.ส. พรรคประชาชน ตกเป็นข่าวฉาวครั้งแรกหลังมีส่วนพัวพันกับ เหตุทะเลาะวิวาทในร้านอาหารย่านเอกมัย ภาพของ ส.ส. หนุ่มในสถานการณ์ร้อนแรงถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง
หลังเกิดกระแสกดดัน ต้นกล้าออกมา โพสต์ขอโทษและให้คำมั่นว่าจะดำรงตนให้เหมาะสม พร้อมยอมรับผิดที่ใช้ความรุนแรง และให้สัญญาว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก เขาขอโทษประชาชนพร้อมให้คำมั่นว่า” จะดำรงตนให้เหมาะสมกับการเป็นผู้แทนราษฎร”
เวลาผ่านไปไม่ถึงปี…
12 มีนาคม 2568 – สส.ต้นกล้ากลายเป็นข่าวอีกครั้ง แต่คราวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในร้านอาหารย่านเอกมัย แต่เป็นภายในอาคารรัฐสภา
ภาพของ ส.ส. ต้นกล้า สูบบุหรี่ไฟฟ้ากลางสภาฯ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียล สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังพิจารณานโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และมีเสียงเตือนถึงผลกระทบต่อเยาวชน กลับเป็น ส.ส. เองที่ทำผิดกฎหมาย
ต้นกล้า โพสต์ขอโทษอีกครั้ง โดยระบุว่าเข้าใจความคาดหวังของประชาชน พร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ แต่…นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่เขาต้องขอโทษประชาชนกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการเป็น สส. หรือแท้จริงแล้ว” เขาไม่เหมาะกับการเป็น สส.?”
พรรคประชาชน…กำลังเผชิญปัญหาภาพลักษณ์หรือไม่?
กรณีของต้นกล้า ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพรรคประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ ก็เคยมี ส.ส. ของพรรคคนอื่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสภาฯ เช่นกัน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเดียวกัน
คำถามสำคัญคือ ทำไมพรรคประชาชนถึงไม่มีมาตรการจัดการที่เด็ดขาดกับพฤติกรรมของสมาชิกพรรคที่ละเมิดกฎหมายในสถานที่ราชการ? หรือว่านี่สะท้อนปัญหาใหญ่ที่พรรคยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส. ตัวเองได้?
การไม่ดำเนินมาตรการที่ชัดเจน อาจทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงมาตรฐานของพรรคประชาชนเอง เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนหนึ่งคน แต่เป็นเรื่องของ “วัฒนธรรมการเมือง” ของพรรคประชาชนที่กำลังถูกตั้งคำถาม
หากพรรคประชาชนยังปล่อยให้ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยไม่มีมาตรการที่จริงจัง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคอาจถูกบั่นทอนในระยะยาว และอาจส่งผลต่อโอกาสในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
“ต้นกล้า” จะเป็น “ต้นแบบ” หรือแค่ “ต้นเหตุ” ของปัญหา?
จากเหตุวิวาทในร้านอาหาร สู่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสภาฯ ต้นกล้าเคยขอโทษและให้คำมั่นแล้วว่าจะดำรงตนให้เหมาะสม แต่นี่เป็นครั้งที่สองที่ต้องพูดประโยคเดียวกัน
หากต้นกล้าสามารถ พิสูจน์ตนเองและรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ เขาอาจเป็นนักการเมืองที่มีอนาคตสดใส แต่หาก พฤติกรรมเช่นนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามเรื่องความเหมาะสมอาจไม่ใช่แค่คำถามในโลกออนไลน์อีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นข้อเรียกร้องให้พรรคประชาชนพิจารณามาตรการที่เด็ดขาดกว่านี้
สิ่งที่น่ากังวลคือ พฤติกรรม สส.รุ่นใหม่ ที่กลายเป็นผู้ทำผิดเสียเอง ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม วัฒนธรรม” ขอโทษแล้วไปต่อ “ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะถ้ามีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ก็ไม่ต้องเอ่ยคำขอโทษ