หากมีรางวัล “การลงทุนไม่ปังแต่ส่อพังในอนาคต” สำนักงานประกันสังคม (สปส.) คงเป็นตัวเต็งจากการทุ่มเงิน 6,900 ล้านบาท ซื้อตึก SKYY9 ผ่านกองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (PE Trust) ในขณะที่ผู้ประกันตนหลายคนยังคงสงสัยว่าเงินที่พวกเขาส่งสมทบทุกเดือนกำลังส่งไปเลี้ยงใครกันแน่?
จากเงินชราภาพสู่อสังหาฯ สุดพิศวง
เรื่องนี้เริ่มต้นจากการเปิดโปงว่า สปส. ลงทุนเงินมหาศาลกับตึก SKYY9 ทั้ง ๆ ที่สำนักงานฯ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่กลับเลือกเป็นเจ้าของตึกแทนที่จะลงทุนผ่านกองทุนอสังหาฯ นอกตลาด ที่กระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า
เหตุผลที่ยกมากล่อมผู้ประกันตน? “การลงทุนเพื่ออนาคต” ฟังดูดี แต่พอมองตัวเลขรายจ่ายแล้ว น้ำตาจะไหล
เพราะแค่ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ Trustee, Trust Manager และ Asset Manager ก็หลายสิบล้านต่อปี ยังไม่รวมภาระผูกพันอื่น ๆ ที่อาจทำให้การลงทุนนี้ไม่ได้คืนทุนง่าย ๆ งานนี้สปส.ใจป้ำสุด ๆ ในการใช้เงินกองทุนที่มาจากหยาดเหงื่อของแรงงาน
“ใครเป็นเจ้าของตึกกันแน่?”
ประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้ยิ่งแซ่บก็คือ ตึก SKYY9 ถูกโยงว่ามีเจ้าของเดิมเป็นลูกชายนักการเมือง “ส.” ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แน่นอนว่าฝ่ายที่ถูกพาดพิงออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ ทุกอย่างโปร่งใส มีการประเมินมูลค่าจากผู้ประเมินอิสระถึง 2 ราย ที่ตีราคาตึกอยู่ที่ 7,300 – 8,000 ล้านบาท ดังนั้นการซื้อที่ 6,900 ล้าน ถือว่า “คุ้มค่าและต่ำกว่าราคาประเมิน”
แต่ช้าก่อน… ถ้าตึกนี้ดีจริง ทำไมนักลงทุนเอกชนไม่ซื้อไปตั้งแต่แรก? ถ้าตึกนี้คุ้มค่าต่อการลงทุน คิดหรือว่าจะตกมาถึงมือกองทุนประกันสังคม?
“การลงทุนเพื่อผู้ประกันตน” หรือ “บ่อเงิน 130,000 ล้าน?”
ที่น่ากลุ้มจนแทบจะต้องเอาเท้ามาก่ายหน้าผากคือ เรื่องไม่จบแค่ตึกเดียว เพราะตอนนี้มีข่าวว่า กองทุนประกันสังคมเตรียมเพิ่มวงเงินลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดจาก 10,000 ล้าน เป็น 130,000 ล้าน
ลองจินตนาการดู…ถ้าตึก SKYY9 เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการทุ่มเงินไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีเงื่อนงำ เราจะต้องไม่ปล่อยให้กองทุนนี้อาจกำลังเดินเข้าสู่เกมที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ เพราะสุดท้ายภาพทั้งหมดจะตกอยู่ที่ “ผู้ประกันตน” ที่ไม่มีสิทธิ์โต้แย้งอะไรเลย…หรือเราควรลุกขึ้นมาเพื่อโต้แย้งก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ต้องไม่ลืมว่า แม้กองทุนทั่วโลกก็ลงทุนในอสังหาฯ แต่เขามีกรอบหลักเกณฑ์บริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน ไม่ใช่สไตล์ “ซื้อก่อน โดนจับโป๊ะ ยังงุบงิบไม่ชี้แจง จนถูกไล่บี้ติดกำแพง ถึงออกมาแสดงกันรอบหนึ่ง”
อยากเรียกความเชื่อมั่นต้อง “โปร่งใส”
ถ้าผู้บริหาร สปส. อยากให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นจริง ๆ ควรเปิดเผย เอกสารการลงทุน รวมถึงรายชื่อผู้ประเมินมูลค่า ใครเป็นเจ้าของก่อนเปลี่ยนมือ และเหตุผลที่เลือกตึกนี้มาซื้อทั้งหมด
ที่สำคัญ… ถ้ากองทุนประกันสังคมจะเดินหน้าซื้อตึกเพิ่มอีกเป็นแสนล้าน ก็ควรให้ประชาชนและกรรมการตรวจสอบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้การลงทุนของ “ใครบางคน” กลายเป็น “ภาระของทุกคน”
นี่อาจเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง
งานนี้ยังมีประเด็นให้ติดตามอีกเยอะ เพราะ กมธ.งบประมาณเตรียมขอเอกสารและข้อมูลเชิงลึกของดีลนี้ มาดูกันว่าผู้ประเมินตีราคาอย่างไร และ ใครกันแน่ที่กำลังได้ประโยชน์จากเงินกองทุนของแรงงานไทย
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของตึกหนึ่งตึก แต่เป็นเรื่องอนาคตผู้ประกันตนทุกคน ถ้าไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง อีกไม่กี่ปีเราอาจได้เห็นตึกสูงมากขึ้น…แต่อนาคตแรงงานต่ำลงทุกที