ลองจินตนาการว่าเรากำลังขับรถยนต์ที่มีความเร็วคงที่บนถนนที่มีความชันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่เพิ่มความเร็วหรือปรับเกียร์ รถของเราก็อาจจะช้าลงหรือหยุดนิ่งไปในที่สุด สถานการณ์นี้เปรียบเสมือนระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่สามารถตามทันได้
ในปี 2568 ประเทศไทยยังคงมีการคาดการณ์ GDP เติบโตที่ประมาณ 2.8-3.0% โดยภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนพยายามยื้อชีวิตเศรษฐกิจอยู่ แต่ลองคิดดู… ในขณะที่เศรษฐกิจอืดอาดแบบนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขกลับพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ เริ่มต้นจากการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัว ทั้งยังต้องรับมือกับภาระจากประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สภาพแบบนี้จะทำยังไงดี? บางคนบอกว่าแค่เพิ่มงบประมาณก็พอ แต่คำถามคืองบประมาณที่เพิ่มขึ้นมันจะช่วยอะไรได้ ถ้าเรายังคงไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับการรั่วไหลของเงินในระบบบัตรทอง โรงพยาบาลรัฐขาดทุนจนต้องขอรับบริจาคเพื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้แพทย์ต่อไป… ทำไปทำมาแทนที่จะใช้จ่ายในเรื่องของการพัฒนาสุขภาพ เรากลับต้องใช้เงินไปกับการพยุงระบบที่ไม่ยั่งยืนนี้
จากการคาดการณ์ล่าสุด ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น บัตรทองอาจจะต้องเผชิญกับการปรับลดสิทธิ์หรือการจำกัดจำนวนโรคที่รักษาฟรี หรืออาจจะต้องตัดสินใจว่า จะ “รักษาทุกคนจนล้มละลาย” หรือ “คัดกรองใครที่เหมาะสมจะรักษา” นั่นหมายถึงว่า “หลักประกันสุขภาพจะไม่ถ้วนหน้าอีกต่อไป”
“งบสาธารณสุขปี 2568 เพิ่มเกือบ 9 % แต่ยังไม่พอ”
จากข้อมูลของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า งบประมาณของบัตรทองในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 8.37 % โดยเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,844.55 บาทต่อคน
หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็อาจจะ ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ขาดดุลไม่พอ สุดท้ายบัตรทองอาจต้องลดสิทธิ์”
หากไม่มีการแก้ไขปัญหา นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับระบบบัตรทอง รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล นำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งสูง,โรงพยาบาลรัฐอาจไม่มีเงินจ่ายหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพราะงบประมาณที่ได้รับไม่พอ,รัฐบาลอาจต้องลดสิทธิบัตรทอง เช่น จำกัดโรคที่รักษาได้ฟรี หรือปรับให้ประชาชนต้องจ่ายร่วม คนรวยไม่เดือดร้อน แต่คนจนต้องแบกรับภาระมากขึ้น นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่รุนแรง
ที่แย่ที่สุด อาจเกิดภาวะล่มสลายของระบบบัตรทอง เพราะงบประมาณไม่พอรองรับค่าใช้จ่ายมหาศาล และเราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินไปถึงจุดนั้น
“เราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง?”
ทางรอดยังมี แต่ต้องรีบลงมือก่อนที่สถานการณ์จะวิกฤตเกินเยียวยา
- บริหารจัดการงบประมาณสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปรับโครงสร้างการจัดการงบประมาณให้ลดการรั่วไหลและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้เทคโนโลยีและ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้และบริหารค่าใช้จ่าย
- เพิ่มแหล่งรายได้เพื่อสนับสนุนบัตรทอง
เก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีน้ำตาลสูง และปรับโครงสร้างจากรัฐรับผิดชอบทั้งหมด เป็นระบบให้ประชาชนจ่ายสมทบบางส่วน เช่น ระบบประกันสุขภาพภาคบังคับหรือสมัครใจ อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมรายปี หรือค่ารักษาพยาบาลร่วมจ่าย หรือ สร้างระบบประกันสุขภาพเสริม ให้ภาคเอกชนมีทางเลือกจ่ายเพิ่มเพื่อบริการที่ดินขึ้น แบ่งเบาภาระภาครัฐ
“บัตรทองจะอยู่หรือไป…ขึ้นอยู่กับวันนี้”
อย่าเอาแต่คิดจะเพิ่มสิทธิยังไง ในขณะที่ความจริงมันฟ้องอยู่ว่าเงินตึงตัวยอมรับความจริงว่าเงินที่มีมันจะร่อยหรอลงเรื่อย ๆ สวนทางภาระที่จะหนักจนเข่าแทบทรุด…อย่าปล่อยให้ระบบบัตรทองต้องล่มสลายเพราะความละเลยทางนโยบาย หากเรายังไม่แก้ไขโครงสร้างการเงินของระบบสาธารณสุข ประเทศไทยอาจเข้าสู่จุดที่ต้องเลือกระหว่าง “รักษาทุกคนแต่ล้มละลาย” หรือ “คัดกรองคนที่สมควรได้รับการรักษา” ซึ่งไม่มีทางเลือกไหนที่เป็นผลดีกับประชาชน
คำถามคือ “เราจะรอให้ถึงวันที่ต้องเลือก หรือจะแก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนี้?”