ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ทาง ThePublisher ซึ่งดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร ถึงความคืบหน้าการเจรจาต่อรองวันและเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
เขายืนยันว่า ฝ่ายค้านพร้อมเจรจากับฝ่ายรัฐบาล แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เนื่องจากกรอบเวลา 30 ชั่วโมงที่ฝ่ายค้านยืนยันนั้น เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถอภิปรายเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน หากลดลงจะทำให้บางประเด็นสำคัญตกหล่น ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเองก็มีเงื่อนไขของตนและไม่ยอมขยับเช่นกัน
“ในห้องประชุมวิปรัฐบาล เราคุยกันแบบยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้อง 30 ชั่วโมงเป๊ะ ๆ แต่ต้องดูตามหลักเหตุผล อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้ฝ่ายค้านได้ 20 ชั่วโมง และรัฐบาลชี้แจง 10 ชั่วโมงนั้น ผมมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะการประชุมแต่ละวันใช้เวลาราว 15 ชั่วโมง หากอภิปราย 2 วันจะได้เพียง 30 ชั่วโมงพอดี และยังไม่รวมเวลาสำหรับการประท้วงหรือให้ประธานวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ จึงมองว่าควรต้องขยายกรอบเวลา” ณัฐพงษ์กล่าว
คาดหวังได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า – ยันอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องเกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้
ณัฐพงษ์ระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการเจรจากับรัฐบาล โดยคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า หากยังไม่ทันก็ยังมีเวลาพอให้เจรจาต่อไป
“เรายังอยากเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ และไม่อยากให้รัฐบาลนำประเด็นกรอบเวลา มาเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของเรา ผมไม่อยากให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความขัดแย้งว่าฝ่ายไหนไม่ยอมลดราวาศอก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจา”
ปรับคำแทนชื่อ “ทักษิณ” แล้ว แต่ยังไม่ส่งญัตติแก้ไขจนกว่าตกลงกรอบเวลาลงตัว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า การถอดชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือว่าสะเด็ดน้ำแล้ว แต่ขอสงวนรายละเอียดเกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้แทน เนื่องจากยังมีความเกี่ยวข้องกับการต่อรองกรอบเวลาอภิปราย
“ผมคิดว่าสิ่งที่สังคมไม่อยากเห็นคือ เมื่อเรายอมปรับถ้อยคำแล้ว ก็ควรให้พวกเราได้อภิปรายอย่างเต็มที่ เรามีคำแทนชื่อทักษิณแล้ว แต่จะยังไม่เปิดเผย และจะยังไม่ยื่นญัตติฉบับแก้ไขต่อประธานสภาฯ จนกว่าตกลงเรื่องกรอบเวลาได้ลงตัว ซึ่งเรื่องนี้เราได้สื่อสารกับประธานสภาฯ แล้ว”
ฝ่ายค้านพร้อมเดินหน้า – ชี้อภิปรายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย
ณัฐพงษ์ยืนยันว่า ฝ่ายค้านต้องการเดินหน้าอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ และไม่อยากให้มีเหตุการณ์ใด ๆ นำไปสู่การล้มญัตติ “การอภิปรายจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลเองก็ต้องมีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องนี้ด้วย”