“เราต้องทำให้สภายุโรปเข้าใจไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องไม่ยอมให้ไทยเสียเปรียบในเกมการเมืองระหว่างประเทศ” คือบทสรุปที่เราได้จากการสัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เปิดเผยกับ The Publisher ถึงกรณีที่ สภายุโรปมีมติประณามไทย ในประเด็นการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน และการบังคับใช้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มติดังกล่าว ไม่มีผลบังคับใช้โดยตรง ต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้กดดันทางการเมือง
“สภายุโรปมีสมาชิกกว่า 720 คน จาก 27 ประเทศ แต่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการบังคับให้แต่ละประเทศดำเนินการใด ๆ เว้นแต่จะมีมติร่วมกันในการออกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การลงมติประณามมักถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศเป้าหมายปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง”
482 เสียงเห็นชอบ – เสียงเสรีนิยมกดดันไทย แม้ไม่รอบด้าน
รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า มติดังกล่าวอาจสะท้อนมุมมองของ เสียงข้างมากที่มีแนวคิดเสรีนิยม ในยุโรป ซึ่งเน้นการผลักดันประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ในหลายกรณี ขาดความเข้าใจบริบทของไทย เช่น กรณี การส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับจีน และอีก 5 คนที่ยังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ฝั่งยุโรปมองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าหลายประเทศเอง ปฏิเสธรับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ก็ตาม และการกดดันให้ไทย แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับยุโรป โดยไม่คำนึงถึงบริบทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในไทย
“ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไทยถูก เข้าใจผิด และถูกกดดันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการเจรจา เขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปมาก หลังจากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มกีดกันทางการค้า หลายประเทศจึงต้องปรับแนวทางให้เหมาะสม ระบบการค้าเสรีแบบเดิมอาจไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป”
“เสียภาพลักษณ์-กระทบอุตสาหกรรมบางส่วน แต่ต้องไม่ยอมจำนน”
รศ.ดร.ปณิธาน ยอมรับว่า มติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทย โดยเฉพาะในแวดวงสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และอาจมีผลต่อ บางอุตสาหกรรมในระยะกลางถึงยาว แม้ว่าน้ำหนักของผลกระทบอาจไม่มากนัก
“เราต้องฟังเสียงของสภายุโรป และทำงานร่วมกันให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่การยอมจำนน ต้องมีการสื่อสารให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง”
“รัฐบาลต้องเดินเกมรุก! ส่งตัวแทนชี้แจงสภายุโรป-ใช้เงื่อนไขการค้าต่อรอง”
รศ.ดร.ปณิธาน ย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศ ต้อง ทำงานเชิงรุก มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก
- สื่อสารกับสภายุโรปโดยตรง โดยต้องมี ตัวแทนรัฐบาลไทย และ นักการทูต ไปให้ข้อมูลกับสมาชิกสภายุโรปเป็นระยะ ๆ เจาะกลุ่ม สมาชิกรัฐสภายุโรปที่ลงมติประณามไทย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการฝ่ายเดียว รัฐบาลต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
- ใช้เงื่อนไขทางการค้าต่อรอง
หากมีประเทศที่ กล่าวหาไทยอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลอาจต้อง ลดระดับความสัมพันธ์ กับประเทศนั้น รวมถึงพิจารณาใช้มาตรการกดดัน เช่น ทบทวนเงื่อนไขทางการค้า การเข้าเมือง และการพำนักในไทย สำหรับประเทศที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อไทย