ฉากอันน่าระทึกกับศึกซักฟอกที่อาจเกิดขึ้นเร็วสุดได้ในวันที่ 24 มีนาคม 2568 แม้ยังไม่รู้จะจบกันที่กี่ชั่วโมง ฝ่ายค้านจะได้ 30 ชม.ตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือจะได้เต็มที่แค่ 23 ต่อ 7 ตามที่รัฐบาลต่อรองและยืนกรานเสียงแข็งจากปาก” วิสุทธิ์ ไชยณรุณ “ประธานวิปรัฐบาลว่า” ได้สุด ๆ แค่นี้ถอยสุดกระดานแล้ว “ผลเป็นอย่างไร ยังต้องรอลุ้น 19 มีนาคม 2568
ขณะที่การเมืองไทยกลายเป็นเกมภาษาสุดสร้างสรรค์ เมื่อ ชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” ถูกตัดออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถือเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่สามารถถูกอภิปรายในสภาได้
แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมแพ้ เมื่อพูดชื่อไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็น “สทร.” เอาซะเลย! ประธานสภาอนุญาตให้ใช้คำนี้ได้ แต่ให้ประชาชนไปตีความกันเอง (นี่มันเกมใบ้คำหรือสภาแห่งชาติ?)
เกมภาษากับเกมอำนาจ
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นทางเทคนิค แต่มันสะท้อนถึงความพยายามควบคุมวาทกรรม และจำกัดพื้นที่การอภิปราย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือของฝ่ายที่กุมอำนาจ การอ้างห้ามพาดพิงบุคคลภายนอก เป็นปราการปกป้อง “ทักษิณ” ที่คนทั้งชาติรู้ดีว่า “เขาไม่เพียงไม่ใช่บุคคลภายนอก” แต่เป็น “มากกว่าคนในเพราะได้ชื่อว่าชี้นิ้วสั่งได้ทั้งรัฐบาล” ประกาศตัวชัดเป็น “สทร.” เสือกทุกเรื่อง และเจ้าตัวก็ทำตามนั้นจริง ๆ ซะด้วย
องครักษ์พิทักษ์ “พ่อลูก” แต่ประชาชนล่ะ?
ในขณะที่ พรรคเพื่อไทยตั้งองครักษ์เพื่อปกป้อง “แพทองธาร-สทร.” ฝ่ายค้านเองก็เตรียมรุกไล่เต็มที่
คำถามคือ ใครกันแน่ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน?
ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะทำหน้าที่ปกป้องนายกฯ และอดีตนายกฯ มากกว่าปกป้องประชาชน ส่วนฝ่ายค้านยังต้องพิสูจน์ตัวเองว่า จะทำได้ดีแค่ไหนกับเดิมพันที่มีศรัทธาประชาชนวางอยู่ตรงหน้า
บิ๊กป้อม: จาก “ไม่รู้” สู่ “รู้ว่าไม่ควรไว้วางใจแพทองธาร”
อีกหนึ่งความน่าสนใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือการพลิกบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป้อม” ที่เปลี่ยนจากคนที่เคยตอบคำถามนักข่าวว่า “ไม่รู้ ไม่รู้” มาตลอด แต่คราวนี้กลับรู้ทันทีว่าแพทองธารไม่ควรได้รับความไว้วางใจ
เกิดอะไรขึ้น?
- ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่ถูกถามเรื่องทุจริตหรือการบริหารราชการ “บิ๊กป้อม” มักจะตอบว่า “ไม่รู้ ๆ ๆ”
- แต่พอถึงคราวอภิปราย จู่ ๆ ก็รู้ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ว่าแพทองธารไม่ควรได้เป็นนายกฯ
- ถึงขั้นประกาศจะ ลุกขึ้นอภิปรายเอง!! ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จาก “ไม่รู้” สู่ “รู้ว่าไม่ควรไว้วางใจ” ถือเป็นการเติบโตทางการเมืองที่น่าทึ่ง หรือแค่เป็นไปตามบทที่วางไว้? ที่สำคัญคือเมื่อเลือกบทนี้แล้วจะได้แต้มจริงหรือเปล่า?
สำหรับประชาชนไม่เพียงต้องติดตามสาระในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แต่ยังต้องจับตาเกมการเมืองที่ซับซ้อน เพื่อรู้เท่าทันนักการเมืองที่ไปใช้อำนาจแทนประชาชน แม้พอเห็นอนาคตว่า “คณิตศาสตร์การเมือง” ในสภาฯ ไม่เคย “ล้ม” รัฐบาลได้ด้วยคะแนนเสียง แต่ผลสะเทือนถึงโครงสร้างอำนาจรัฐบาลใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะการจะอยู่หรือไปของ “นายกฯ-รัฐบาล” ไม่ได้ใช้หลักประกันที่มือของ สส.เท่านั้น แต่ยังมี “มือ” ของประชาชนนอกสภาฯ ที่จะบอกว่า “รัฐบาลแพทองธาร ยังสมควรกุมอำนาจต่อไปหรือไม่?”
ประชาชนจึงต้องติดตามว่า…ฝ่ายค้านจะตีโจทย์ “สทร.” ได้แหลมคมหรือไม่? “บิ๊กป้อม” จะอภิปรายจริง ๆ หรือแค่ขู่? ถ้าอภิปรายจริง จะทำได้ดี หรืออาจถูกตีโต้จนแตกพ่าย? องครักษ์จะปกป้องได้ขนาดไหน? หรือสุดท้ายจะเป็นเพียงปราการชั่วคราว ที่ปิดไม่มิดเมื่อความจริงถูกเปิดเผย?
และสุดท้าย การอภิปรายจะมีผลต่อประชาชน หรือเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่เราเดาตอนจบได้เท่านั้น?