“ผิดหลักการเป็นไปไม่ได้ บริษัทไหนจะซื้อหนี้เสียโดยไม่ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ” เป็นบทวิพากษ์จากปากนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้เอกชนซื้อหนี้เสียจากระบบธนาคาร โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว
ล้างหนี้เครดิตบูโร “แนวคิดผิดหลัก-เป็นไปไม่ได้”
“ผมว่าเป็นแนวคิดที่ผิดหลักการอย่างแท้จริง ที่บอกว่าจะให้เอกชนซื้อหนี้โดยรัฐไม่ต้องเสียเงินเลย บริษัทไหนจะซื้อ เพราะไม่มีประโยชน์ทางธุรกิจ หรือจะมีเอกชนสายบุญมาทำเช่นนั้นจริงๆ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้” นายธีระชัยกล่าว
ถ้าเอกชนจะซื้อทำได้ทันที แต่รอมาสิบปีไม่เคยเกิดจริง
นายธีระชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย กลไกตลาดก็จะไม่เดินหน้า เพราะการซื้อหนี้เสียโดยเอกชนล้วนเป็นการเจรจาระหว่างแบงก์และเอกชน ซึ่งติดปัญหามาตลอด เนื่องจากฝั่งธนาคารไม่ต้องการขายเพราะไม่อยากตัดขาดทุนทันที ส่วนฝั่งเอกชนก็ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ “ผ่านมาเป็นสิบปีแล้วไม่เคยเกิดจริง คนขายไม่อยากตัดขาดทุน คนซื้อก็ไม่เห็นความคุ้มค่า เกิดได้แต่ในคำพูดแต่ในทางปฏิบัติเกิดไม่ได้จริง จะเกิดได้จริงมีทางเดียวคือรัฐต้องหนุนหลัง ซึ่งหากรัฐเข้าไปหนุนหลังจริง หนี้สาธารณะก็จะทะลุเพดานทันที จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวง และเกิดข้อถกเถียงในสังคมว่าจะเข้าท่าหรือไม่ แต่ผมดูแล้วคิดว่าทำไม่ได้”
เตือน “เชื่อมโยงเงินดิจิทัล” ยิ่งเสี่ยงหนัก
นายธีระชัยวิเคราะห์ต่อว่า ข้อเสนอของทักษิณอาจเป็นการเชื่อมโยงระหว่างการซื้อหนี้และระบบเงินดิจิทัล “หากทักษิณจะโยงสองเรื่องนี้เข้าด้วยกันจริง ความเสี่ยงที่ตามมาคือรัฐบาลต้องเข้ามาหนุนหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นแบบฉับพลัน เศรษฐกิจอาจไปกันใหญ่ ความน่าเชื่อถือในสายตาต่างชาติหมดลง”
เศรษฐกิจไทย “ตัว K ขาลง “ต้องแก้จริงจัง
นายธีระชัย ยังเตือนว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะ “ตัว K ขาลง” รายได้ประชาชนส่วนใหญ่ยังตกต่ำ “เศรษฐกิจแบบนี้ควรรีบแก้หนี้ครัวเรือนแบบจริงจัง ไม่ใช่เดินหน้าแต่เมกะโพรเจกต์ เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่กับทุนใหญ่ ต้องแฮร์คัท ลดหนี้อย่างแท้จริง และเอากำไรสะสมของแบงก์มาช่วยประชาชน เพิ่มผู้เล่นในระบบธนาคาร เพื่อให้มีการแข่งขันบีบให้แบงก์พาณิชย์ต้องหาลูกค้าระดับล่างเพิ่มขึ้น ค้ำประกันลูกหนี้ที่มีการกู้ใหม่ทำโครงการที่มีนวัตกรรมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ควบคู่กับการหารายได้ กระตุ้นให้มีการลงทุนในภาคเอกชน ต้องทำเป็นวงจรใหญ่”
เตือนเตรียมรับมือ “กำแพงภาษีทรัมป์”
อดีตรมว.คลัง ชี้ด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลยังแก้เศรษฐกิจไม่ได้ อาจเป็นเพราะไม่ต้องการไปแตะประโยชน์ของนายทุนพรรค จึงไม่เขยื้อนในส่วนนี้ ทำให้ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกอยู่ด้านบน การแก้หนี้ระดับล่างทำได้ยาก “ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจจะซบเซาทั้งระบบ กำลังซื้อหดมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากนโยบายกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งในอนาคตไทยก็น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ในอันดับ 10 ของโลก เศรษฐกิจข้างหน้าจึงดูไม่สดใส ยิ่งไม่แก้หนี้ครัวเรือนก็จะยิ่งลำบาก กำไรบริษัทก็จะลดลง กระทบต่อตลาดทุน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ยิ่งมาเจอไอเดียซื้อหนี้จากแบงก์พาณิชย์ แม้จะอ้างว่ารัฐไม่เกี่ยวก็เชื่อว่านักลงทุนดูออกว่ายังไงก็เกี่ยวกับรัฐบาล แบบนี้นักลงทุนต่างประเทศจะยิ่งไม่เชื่อถือ ถ้าทำจริงก็เสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจได้