“ทำอย่างไรจะให้หนี้สินคนไทยหมด เพราะวันนี้หนี้ครัวเรือนเยอะเหลือเกิน จึงคิดกันว่าจะซื้อหนี้ทั้งหมด โดยการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคารดีหรือไม่ แล้วให้ประชาชนค่อยๆ ผ่อน ไม่ต้องชำระเต็มจำนวนแล้วให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ยกจากเครดิตบูโรให้หมด ให้เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่องทำมาหากินใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินรัฐสักบาท เพราะตนสามารถให้เอกชนลงทุน” — ทักษิณ ชินวัตร, เวทีปราศรัยที่พิษณุโลก 17 มี.ค.68
คำพูดของ ทักษิณ ชินวัตร บิดานายกฯ กลายเป็น จุดเริ่มต้นของแผน “ซื้อหนี้ประชาชน” ที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังผลักดัน และเพียงไม่นาน พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้ทันที โดยบอกว่า “เป็นไปได้”
ไม่เพียงแค่นั้น พรรคเพื่อไทยยัง ออกโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ชูภาพของพิชัย และทักษิณ เคียงข้างกัน พร้อมข้อความ “ซื้อหนี้ประชาชน Good Bank-Bad Bank ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าทักษิณมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายนี้
คำถามสำคัญคือ นี่เป็นแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลจริงๆ หรือเป็นแนวคิดที่ทักษิณขับเคลื่อนเอง?
“ซื้อหนี้ประชาชน” หรือ “มัดตัวเองอยู่ใต้เงาทักษิณ” ?
การที่พรรคเพื่อไทย เลือกใช้ภาพทักษิณและพิชัยคู่กัน ในโปสเตอร์ ไม่เพียงสะท้อนแนวคิด “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ถูกใช้เป็นจุดขายในอดีต แต่ในปัจจุบันมันกลับ กลายเป็นข้อครหาว่า ทักษิณยังคงเป็น “ผู้กุมอำนาจตัวจริง” ในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลลูกสาว
“แพทองธาร” หายไปจากโปสเตอร์
ตามโครงสร้างอำนาจ แพทองธาร ชินวัตร ควรเป็นผู้นำทางนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่โปสเตอร์ชุดนี้กลับ ไม่มีภาพของเธอเลย กลายเป็นว่า “ทักษิณ” กับ “พิชัย” กำลังเป็นคนชี้นำนโยบายใหญ่ แทนที่นายกรัฐมนตรี ตอกย้ำว่า แม้ ทักษิณ จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ คำพูดเกี่ยวกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจทุกครั้ง ล้วนได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากรัฐบาล ราวกับว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินตามแนวทางที่ถูกกำหนดไว้แล้วหรือไม่?
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยพยายามนำเสนอว่า “แพทองธารคือผู้นำรุ่นใหม่” และพรรคสามารถขับเคลื่อนเองได้ แต่โปสเตอร์นี้กลับสะท้อนภาพตรงกันข้าม ว่าทักษิณยังคงเป็นศูนย์กลางของทุกการตัดสินใจ
“Good Bank – Bad Bank” ใช้ได้จริง หรือแค่สร้างภาพ?
แนวคิดที่เพื่อไทยนำเสนอ คือการใช้โมเดล “Good Bank – Bad Bank” โดยอ้างว่า “สามารถซื้อหนี้ประชาชน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน”
มาทำความเข้าใจกับ Good Bank – Bad Bank กันหน่อยว่า คืออะไร?
- Good Bank – ธนาคารที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าดี
- Bad Bank – ธนาคารที่แยกหนี้เสียออกมาเพื่อจัดการ
มีคำถามว่าเงินที่จะใช้ซื้อหนี้มาจากไหน แม้พรรคเพื่อไทยบอกว่า “ใช้ทุนเอกชน” แต่คำถามต่อไปคือ เอกชนที่ไหนจะเข้ามาซื้อหนี้เสียโดยไม่หวังผลตอบแทน? ใครจะเป็นเจ้าของ “Bad Bank” ? ถ้ารัฐไม่ได้ใช้เงินภาษี แต่ต้องค้ำประกันหนี้แทน แบบนี้สุดท้าย ภาระก็ตกอยู่กับประชาชนอยู่ดี การลบชื่อออกจากเครดิตบูโร อาจสร้างปัญหาต่อระบบสถาบันการเงิน เพราะหมายความว่าธนาคารจะไม่สามารถใช้ข้อมูลประวัติหนี้เพื่อตรวจสอบลูกหนี้ในอนาคต
นี่คือคำถาม ความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นถ้าเดินหน้านโยบายนี้
การเมืองกับการตลาด: นโยบายนี้เป็นไปได้จริง หรือแค่เครื่องมือหาเสียง?
ฝ่ายสนับสนุนมองว่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ติดอยู่ในระบบหนี้ และไม่มีทางเลือก ลดภาระให้ประชาชนที่ ติดเครดิตบูโร และไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ หากบริหารจัดการดี อาจเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาหนี้ของประเทศ
ส่วนฝ่ายวิจารณ์มองว่า นี่เป็นแค่นโยบายประชานิยมที่แทบไม่มีความเป็นไปได้จริง รัฐบาลอาจไม่ได้ใช้ “งบประมาณแผ่นดิน” โดยตรง แต่สุดท้ายภาครัฐอาจต้องค้ำประกันหนี้แทน กลายเป็นภาระที่ตกอยู่กับประชาชนทั้งประเทศในระยะยาวอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นเกมการเมืองที่ตอกย้ำว่า รัฐบาลเพื่อไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากอิทธิพลของ “ทักษิณ”
และทั้งหมดถูกสะท้อนออกมาจากโปสเตอร์ของพรรคเพื่อไทยเอง แม้มันจะช่วยกระตุ้นฐานเสียงที่ศรัทธาใน “ทักษิณ” แต่ก็เป็นดาบ สองคม ตอกย้ำสงสัยที่ว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังเดินตามแนวทางของตัวเอง หรือเป็นเพียงเงาสะท้อนของ “พ่อนายกฯ” กันแน่?
“ทักษิณ” พูด “รัฐบาล” เดินหน้า ใครเป็นนายกฯ ตัวจริง เด็กอมมือยังมองออก