ภาพบรรดารัฐมนตรีรวมถึงนายกฯ ท่อนบนใส่สูททางการ ท่อนล่างใส่กางเกงลายจังหวัด หวังดันซอฟพาวเวอร์ตามไอเดีย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ผู้นำเจน Y เอาจริง ๆ ทำให้ผู้คนหัวเราะขบขันก่อนต้องหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะเป็นตลกร้ายที่ไม่ควรขำ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องชวนหัว แต่เป็นเรื่องชวนคิดถึง “มันสมอง” ผู้นำประเทศว่า “คิดได้ไง” ยังไม่เท่า “กล้าทำเนอะ”
“ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ต้องทำให้คนอยากเลียนแบบ ไม่ใช่เป็นเทรนด์ที่บังคับให้ทำ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการโปรโมตกางเกงลายจังหวัดของ” อิ๊งค์ “มันยิ่งทำให้คนไม่อยากใส่กางเกงลายจังหวัด หรือคุณเห็นแล้วอยากใส่…?
จาก “Soft Power” สู่ “Forced Power” – เข้าใจแต่ไม่อิน
แนวคิดของ กางเกงลายจังหวัด นั้นเป็นความคิดที่ดีในทางทฤษฎี เพราะมันเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้ แต่ปัญหาคือ มันถูกดันมาในบริบทที่ผิด และวิธีการนำเสนอที่ทำให้คนรู้สึกแปลกแยกแทนที่จะอิน
กางเกงลายจังหวัดไม่ใช่ปัญหา – แต่ใส่กับสูทคือปัญหาใหญ่
การพยายามทำให้ลายกางเกงกลายเป็น “แฟชั่นแห่งชาติ” เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การบังคับให้มันไปอยู่ในกรอบของ ชุดทางการ โดยใส่กับสูท กลับเป็นการดึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปอยู่ในบริบทที่ขัดแย้งกันเอง
กางเกงลายเหล่านี้มีความเป็นลำลองสูง และเป็นเสน่ห์ที่ควรนำเสนอให้คนใส่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่การ “จัดฉากให้ดูเหมือนเป็นแฟชั่นที่เข้ากับสูท ทั้งที่มันดูแปลกและตลก”
กางเกงลายจังหวัดควรมีเรื่องเล่าของจังหวัด ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงเป็นคนจังหวัดไหนอยากใส่กางเกงลายนั้น คนไปเที่ยวอยากใส่เพราะอยากแสดงว่าฉันมาถึงที่แล้ว
กางเกงลายจังหวัดควรเป็น “เรื่องเล่า” ที่เชื่อมโยงกับผู้คน
Soft Power ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่คือเรื่องราวที่ทำให้มันมีคุณค่ากางเกงลายจังหวัดควรมี Storytelling ว่าทำไมลายเหล่านี้ถึงสำคัญ มีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้ออกแบบ แรงบันดาลใจมาจากอะไร
ถ้าทำให้กางเกงแต่ละลายกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดได้จริง คนจะอยากใส่เอง เช่น คนเชียงใหม่อยากใส่ลายดอกเอื้อง คนภูเก็ตอยากใส่ลายย่าหยา หรือคนไปเที่ยวอยากใส่เพื่อบอกว่า “ฉันมาถึงที่นี่แล้ว!”
ไม่มีใครอยากใส่ เพราะมันถูก “บังคับให้แมส”
ถ้าจะทำให้กางเกงลายจังหวัดได้รับความนิยมจริงๆ ต้องเริ่มจากการให้คนรู้สึกว่า “อยากใส่เอง” ไม่ใช่การทำให้เป็นเหมือนเครื่องแบบที่ต้องใส่เพื่อแสดงตัวว่าร่วมโปรโมต
เทียบกับกรณี “เสื้อมัดย้อม” หรือ “ผ้าไหมไทย” ที่เคยได้รับความนิยม พวกมันดังขึ้นมาเอง เพราะมันดูดีเมื่ออยู่ในบริบทที่ใช่ ไม่ใช่เพราะมีใครสั่งให้คนใส่
Soft Power ควร “ดึงดูด” ไม่ใช่ “กำหนด”
ซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เช่น K-Pop, อาหารญี่ปุ่น, หรือแฟชั่นจากอิตาลี ล้วนเกิดจากความ “อยากทำตามของคนทั่วไป” ไม่ใช่การที่รัฐบาลมานั่งกำหนดว่าต้องใส่อะไรในงานประชุม
ถ้าจะดันให้กางเกงลายจังหวัดเป็นแฟชั่นจริงๆ ควรทำให้มันเป็นสินค้าที่คนเห็นแล้วอยากซื้อเอง ไม่ใช่การบังคับให้ใส่กันทั้งคณะรัฐบาลเพื่อหวังให้คนจำ
นายกฯ ควรเข้าใจว่า ซอฟพาวเวอร์ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ดีดนิ้วแล้วจะดัง แต่มันต้องทำให้ “คูล “ก่อน แล้วความดังจะตามมาเอง
ปรับยังไงให้ “ปัง” แทน “พัง”
ไม่ควรไปแมตช์กับชุดทางการ ควรทำให้มันเป็นแฟชั่นลำลองที่คนทั่วไปใส่ได้จริง
ไม่ควรใส่สูทแล้วบอกว่ากางเกงลายเข้ากัน ควรส่งเสริมให้ดารา อินฟลูเอนเซอร์ หรือนักออกแบบไทยมาช่วยออกแบบให้มันดูอินเตอร์
ไม่ควรจัดฉากให้ใส่กันแค่ในหมู่ข้าราชการ ควรทำให้มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในงานเทศกาล เช่น สงกรานต์ หรือลอยกระทง และแน่นอนนายแบบนางแบบไม่ควรเป็น ครม. เพราะมันจะเกิดกระแสล้อเลียนมากกว่าชื่นชม การโปรโมตแบบนี้อาจทำให้กางเกงลายจังหวัดกลายเป็น” มีม “มากกว่า” แฟชั่น “ซึ่งอาจส่งผลเสียระยะยาว
จากซอฟต์พาวเวอร์ สู่แคมเปญที่ดู “ตลก” มากกว่า “ทรงพลัง”
การโปรโมตกางเกงลายจังหวัดในครั้งนี้ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีประโยชน์ แต่วิธีการนำเสนอทำให้มันดูผิดที่ผิดทาง กลายเป็นภาพของ “ผู้ใหญ่พยายามทำให้เด็กอินกับอะไรที่พวกเขาไม่อิน”
สุดท้ายแล้ว “ซอฟต์พาวเวอร์” ควรจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลพยายามยัดเยียดให้ประชาชนทำตาม และกางเกงลายจังหวัดที่ถูกบังคับให้ใส่กับสูทในที่ประชุมครั้งนี้ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของความผิดพลาดนั้น
ถ้ายังคิดไม่ออกว่า ซอฟพาวเวอร์ที่ดีควรเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปดู” หมูเด้ง “ฮิปโปเซเลปแห่งสวนสัตว์เขาเขียวที่ดังไปทั่วโลก โดยไม่ต้องสั่งให้ใครแชร์ คลิปเดียวก็ติดเทรนด์แบบไวรัล อยากดันซอฟพาวเวอร์ นายกฯ ต้องเข้าใจ ซอฟพาวเวอร์ อย่างถ่องแท้เสียก่อน!