นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้โพสต์เฟสบุ๊ก “Surapol Opasatien” เปิดข้อมูลสถานการณ์หนี้สินของไทย ณ มกราคม 2568 ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังแนวทางแก้ไข
หนี้ครัวเรือนแตะ 16.3 ล้านล้านบาท หนี้เสียพุ่ง 1.22 ล้านล้านบาท
เขาหยิบยกข้อมูลจากสถาบันวิจัยป๋วย ที่นำข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนจากเครดิตบูโรจำนวนกว่า 27 ล้านลูกหนี้ ไปแยกแยะสุขภาพทางการเงินจากภาระหนี้สินแล้วนำไปนำเสนอในงานสัมนาวิชาการ ของธนาคารกลางปีที่แล้ว ข้อมูลมันบอกว่า ในระบบการเงินของเราเวลานี้มีคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี ซึ่งน่าจะพอยื่นกู้ได้เพียง 25% ที่เหลือก็ดูจะมีเงื่อนไขที่ดูจะยากในการได้รับอนุมัติตามมาตรฐานสินเชื่อในปัจจุบันที่เข้มถึงเข้มมาก
ขณะที่สินเชื่อในระบบที่มีการส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโรทุกเดือน ตัวเลขคือ 13.6 ล้านล้านบาท ถ้าบวกเพิ่มด้วยหนี้ที่สหกรณ์ออมปล่อยกู้สมาชิกและกยศ.และอื่น ๆ ก็จะไปอยู่ที่ 16.3ล้านล้านบาทที่เราเรียกว่าหนี้ครัวเรือน
การเติบโตของหนี้ของบุคคลธรรมดาในระบบเท่ากับ -0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (yoy) หมายถึงสินเชื่อรายย่อยมันแทบไม่ขยับ เราจึงเห็นการบ่นทั่วแผ่นดินว่ากู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง สะท้อนถึงการหดตัวของสินเชื่อรายย่อย, SMEs.
รายละเอียดหนี้ที่น่ากังวล
ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ให้ข้อมูลเจาะลงไปอีกว่า
มีหนี้เสีย (NPLs) 1.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนทุกประเภทสินเชื่อ 9.5 ล้านบัญชี,หนี้กำลังจะเสีย (SMs) 5.8 แสนล้านบาท,หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ SM.จำนวน 1.9ล้านบัญชี,หนี้ที่ปรับโครงสร้าง (TDRs) 1 ล้านล้านบาท หรือ 3.7 ล้านบัญชี ต่อมาคือหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน 90 วันซึ่งมีการรีบเร่งเอามาทำการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือทำ DR. เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ เริ่มเก็บข้อมูลเดือนเมษายน 2567 ตอนนี้ยอดสะสมเท่ากับ 9.2แสนล้านบาทจำนวน 1.7 ล้านบัญชี
” ด้วยตัวเลขหนี้ที่มีลักษณะต่างๆ ข้างต้น ด้วยจำนวนมูลหนี้เป็นบาท ด้วยจำนวนที่นับเป็นบัญชีแล้ว เรามีปัญหาระดับที่อาจเรียกว่าวิกฤติได้นะครับ การฟื้นตัวของรายได้ไม่มากพอ ไม่ทั่วถึง ยังมาไม่เต็มที่และไม่เหมือนเดิม”
หนี้พุ่ง แต่สินเชื่อไม่โต ปชช.กู้ไม่ผ่านชนกำแพง 3 ด้าน
สุรพล ชี้ถึงปัญหาที่ทำให้กู้เงินไม่ได้ว่าจะติดกำแพงอายุ หากต้องผ่อนเกิน 60-65 ปี ก็อาจถูกปฏิเสธสินเชื่อ และยังมีกำแพงรายได้ ที่กำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt to income) ทำให้หลายคนกู้เพิ่มไม่ได้ รวมถึงยังมีกำแพงเครดิต เป็นคนเคยค้างชำระ หรือมีประวัติเป็นหนี้เสียจะถูกจำกัดสิทธิ์การกู้ “เรามีคนสุขภาพทางการเงินดี 25% หรือประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งหลายคนไม่มีความจำเป็นต้องกู้”
หนี้กองเป็นภูเขา เจอหลุมรายได้ ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย
เขาย้ำด้วยว่า ภาระหนี้สินกองเป็นภูเขาหลังจากเจอหลุมรายได้ มันฉุดกระชากเศรษฐกิจ, เซาะกร่อนบ่อนทำลายรากฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการที่กำลังแก้อยู่ไม่ว่า คุณสู้ เราช่วย จ่ายตรง คงทรัพย์ ปิดจ่ายจบ หรือที่กำลังวิวาทะฝุ่นตลบ หากทางใดทางหนึ่ง หรือทางหนึ่งทางใดจะทะลุปัญหานี้ นอกเหนือจากออกมาพูดเก๋ไก๋ ว่าเป็นเรื่องโครงสร้างแต่ไม่บอกวิธีแก้ชัด ๆ แล้วละก็ “เราควรใจกว้างๆ ใจร่มๆ เปิดรับฟังวิธีการ เราควรสู้กับเรื่อง ไม่ใช่สู้กับคนให้มีเรื่อง ต้องคิดบวก ไม่ใช่พร้อมบวก บ้านเมืองมันถึงจะวิวัฒน์ ถ้าติไปทุกเรื่องมันก็วิบัติสิครับ”