หากการศึกษาไทยคือการลงทุนในอนาคต
งบประมาณ 4.8 % ของ GDP ควรสร้างอนาคตที่ดีไม่ใช่หรือ?
แต่ข้อมูลจากกราฟเปรียบเทียบรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐต่อ GDP ของไทยและประเทศอื่น ๆ ที่เผยแพร่โดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ได้เผยให้เห็นปริศนาน่าหนักใจ
ใครจะคิดว่า…ประเทศไทยทุ่มงบด้านการศึกษาเกินค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่เรากลับอยู่อันดับที่ 107 ของโลก ด้านคุณภาพการศึกษา “แพ้แม้กระทั่งลาวซึ่งอยู่อันดับที่ 102”
ขณะที่คุณภาพการศึกษาแย่ลง…กระทรวงการศึกษาธิการจัดงบ 2.9 หมื่นล้าน แจกแท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ก โดย ม.ปลายรับแท็บเล็ต 6 แสนเครื่องในปีนี้ (2568)
ถามว่า…นั่นทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นหรือเปล่า?
เทงบละลายแม่น้ำ…ทำโครงการหวังเงินทอน?
การจัดการแบบไร้ประสิทธิภาพ ขาดระบบติดตาม ตรวจสอบ และกระจายทรัพยากรไม่ทั่วถึง หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ ครูขาดแรงจูงใจเพราะระบบกดทับ
เด็กเมืองกับเด็กดอย ยังใช้ชีวิตอยู่ในระบบการศึกษาที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว…ความเหลื่อมล้ำฝังลึกที่ไม่เคยมีใครคิดขุดขึ้นมาให้เท่าเทียม
เราไม่ได้ขาดงบประมาณ…เราขาดระบบที่เห็น “คุณภาพ” เป็นเป้าหมาย
ถึงเวลาปฏิรูปแบบไม่ลูบหน้าปะจมูก…เปลี่ยนวิธีจัดสรรงบให้โปร่งใส กระจายอย่างเป็นธรรม ยกระดับครูและปรับหลักสูตรให้พร้อมรับอนาคต รัฐบาลควรมีแผนการชัดเจนจะให้ประเทศไปทางไหน กำหนดหลักสูตรรองรับพร้อมกับทิศทางและอนาคตของประเทศ เด็กจะได้เห็นจุดหมาย ไม่ใช่มองไปเจอแต่ “ฝุ่น” ที่จบออกมาแล้วนั่ง “วิจัย” เพราะ “ตกงาน”
ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแม้ยากที่จะลด แต่ถ้าไม่เริ่มช่องว่างระหว่างกันก็ไม่มีทางแคบลง ตัวชี้วัดควรประเมินกันที่ศักยภาพมากกว่าคะแนนหรือไม่?
การศึกษาคืออนาคตของประเทศ
แต่ถ้ายังลงทุนแบบไร้ทิศทาง…อนาคตนั้นอาจไม่มีวันมาถึง
อย่าให้คนพูดได้ว่า “เพราะมีรัฐบาลแพทองธาร ประเทศจึงไม่มีอนาคต!”