“เจ็บตัวแล้วยังต้องเจ็บใจ” — เมื่อค่ารักษาพยาบาลกลายเป็นภาระที่เกินจะรับไหว
“น้ำเกลือ 1 ลิตร ต้นทุน 45 บาท แต่คิดราคา 919 บาท”
“สำลีก้อนละ 10 สตางค์ กลายเป็น 7 บาท”
“ปลาสเตอร์ปิดแผล 25 บาท ขาย 224 บาท”
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ตัวเลขจากเรื่องแต่ง แต่คือราคาที่ ผู้ป่วยจริงได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชน
พร้อมใบเสร็จที่นำมาร้องเรียนต่อ สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) ซึ่งระบุว่ากำลังเกิด “เงินเฟ้อทางการแพทย์” ระดับอันตราย โดยไม่มีหน่วยงานใดควบคุม
“เราไม่ได้เรียกร้องความสงสาร…เราต้องการความเป็นธรรม”
นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค TCC
เปิดเผยในรายการสัมภาษณ์ว่า
“โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรหลักพันถึงสี่พันล้านบาทต่อปี แต่ไม่มีแนวโน้มลดค่ารักษา กลับวางแผนเพิ่มจำนวนผู้ป่วยต่างชาติ เพื่อดันราคาขึ้นให้ผู้ถือหุ้น”
“สิ่งที่เราควรคุยกันวันนี้คือ ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นทาง? ทำไมไม่มีการควบคุมราคาค่ารักษาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเกินจริง แทนที่จะผลักภาระให้ผู้บริโภค?”
เมื่อค่ารักษากลายเป็นกำแพงขวางการเข้าถึงสุขภาพ
จากข้อมูลร้องเรียนล่าสุดพบว่า น้ำเกลือ 1 ลิตร ต้นทุนจริงเพียงแค่ 45 บาท แต่รพ.เอกชนเรียกเก็บ 919 บาท แพงกว่าต้นทุนถึง 1,900% สำลีก้อน 0.35 กรัม ก็ไม่น้อยหน้า ต้นทุน 10 สตางค์ รพ.เอกชนเรียกเก็บเบา ๆ ที่ 7 บาท พุ่งทะยานถึง 6,900% ส่วนพลาสเตอร์ 6 ซม. เอาแบบพอหอมปากหอมคอ ต้นทุน 25 บาท เรียกเก็บ 224 บาท เพิ่ม 700%
แบบนี้…ประชาชนได้แต่ “หวานอมขมกลืน”
คุมราคาค่ารักษา-เวชภัณฑ์กี่โมง?
สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ เข้ามากำกับราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หลังความพยายามที่ผ่านมายังไม่เป็นผล โดยหน่วยงานรัฐมักอ้างว่า “ไม่ใช่หน้าที่” หรือ “ไม่อยู่ในขอบเขต”
ค่ารักษาพยาบาลคือปัจจัยสี่ ไม่ใช่สินค้าแฟชั่นที่ใครอยากซื้อก็ซื้อ ไม่อยากซื้อก็ไม่ต้องซื้อ…แต่มันเป็นไฟท์บังคับที่ต้องจ่ายเมื่อป่วย!
เสียงผู้บริโภคต้องดังพอเพื่อเปลี่ยนระบบ
วันนี้เราขอให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบ เก็บใบเสร็จไว้ แล้วส่งมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค โทร 1502 เพื่อรวบรวมหลักฐาน และเรียกร้องเชิงระบบต่อไป
เป็นการปลุกเร้าจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ประชาชนลุกขึ้นมารักษาสิทธิ…อย่าปล่อยให้ระบบสุขภาพเป็นธุรกิจที่ไร้เพดาน…ที่ประชาชนทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องจ่ายอย่างไม่เป็นธรรม!